วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

ดนตรีกับเด็ก: เรียนเมื่อไหร่ เรียนอย่างไร

"เด็กควรเริ่มเรียนดนตรีเมื่อไหร่?" ผู้ปกครองมักจะมีคำถามแบบนี้เสมอ คำตอบที่ได้รับ บางทีก็ได้รับข้อมูลที่ถูกบ้างผิดบ้างจากครูดนตรี บางครั้งพ่อแม่พาลูกไปที่โรงเรียนดนตรี ครูจะบอกว่ายังเล็กไป ไว้ 7 ขวบค่อยมา พอลูก 7 ขวบพาไปอีก ครูอีกคนบอกว่าน่าจะมาตั้งแต่เล็กๆ ผู้ปกครองคงจะสับสน ปัญหานี้เกิดกับผู้ปกครองหลายคนที่ได้รับคำตอบถูกบ้างผิดบ้าง จากครูดนตรีที่ไม่รู้จริง


  จริงๆแล้ว เด็กเรียนดนตรีได้ตั้งแต่ยังเล็กๆอยู่ยิ่งเล็กยิ่งดี แต่ไม่ได้หมายความว่า 1 ขวบมานั่งเล่นเปียโน เพราะกล้ามเนื้อ แต่จะเรียนรู้ดนตรีได้ในวิธีที่ต่างกันขึ้นอยู่กับพัฒนาการกับการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละวัย เด็กสามารถสัมผัสกับดนตรีตั้งแต่อยู่ในครรภ์โดยอาศัยการฟัง เด็กที่ได้รับการกระตุ้นอย่างเหมาะสมตั้งแต่ก่อนเกิดจะช่วยให้สมองได้รับการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ เด็กแรกเกิดจะเรียนดนตรีในลักษณะที่เป็นการสัมผัสประกอบเสียง ในขณะที่เด็กกำลังฟังอยู่นั้นคุณพ่อคุณแม่อาจใช้การสัมผัสลูกตามจังหวะเพลง ทั้งนี้ก็ต้องเลือกเพลงให้เหมาะสมกับเด็กด้วย เด็กเล็กๆ เรียนรู้ในเรื่องของเสียง และจังหวะได้

เด็กอายุ 3 ขวบเป็นวัยที่เริ่มเล่นเครื่องดนตรีได้เพราะกล้ามเนื้อเริ่มแข็งแรงแต่จะเรียนในลักษณะของการร้องหรือเต้นให้เข้ากับจังหวะ หลักสูตรที่สอนสำหรับเด็กเล็กอาจใช้เครื่องเคาะเครื่องตีเข้ามาผสม การสอนเรื่องเสียง และจังหวะ จะเป็นการผสมระหว่างการเรียนดนตรีกับการเล่นที่เป็นไปตามธรรมชาติ ผู้ปกครองหลายท่านไม่เข้าใจก็จะคิดเสมอว่าลูกไม่เห็นได้เล่นเป็นเพลงเลยแล้วให้หยุดเรียน รอให้โตพอที่จะเล่นเปียโนได้ค่อยให้เรียนใหม่ จริงๆ แล้วเป็นการทำให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้
หลังจากเด็กได้เรียนรู้ดนตรีขั้นพื้นฐาน อันได้แก่ การร้อง การเต้น ให้เข้ากับจังหวะได้ดีแล้ว เป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องพิจารณาผู้เรียนว่าสมควรจะได้เรียนดนตรีชนิดใดชนิดหนึ่งเมื่อใด เช่นการเรียนเปียโน ส่วนมากจะให้เด็กเริ่มเรียนในช่วงอายุ 4 ปี อาจจะเร็วหรือช้ากว่านี้ก็ได้ขึ้นอยู่กับพัฒนาการด้านร่างกาย พัฒนาการด้านการเรียนรู้ดนตรี ความต้องการและความสนใจของผู้เรียนเป็นสำคัญ


ช่วงเวลาที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุดคือช่วง 0-6 ขวบ พูดง่ายๆ ก็คือในสมองของเด็กช่วงเวลานี้จะรับรู้ทุกอย่าง เพราะเป็นการรับเพียงด้านเดียวไม่สามารถปฏิเสธได้ เหมือนผ้าขาวที่บริสุทธิ์ไม่ว่าจะใส่อะไรไปก็จะรับได้ตามนั้น เพราะเส้นใยของสมองรวมทั้งรอยหยักที่ผิวสมองจะเยอะที่สุด ช่วงนี้เป็นวัยที่มีจินตนาการสูง เพราะฉะนั้นผู้ปกครองควรใจเย็นๆ ให้ลูกได้รับการฝึกฝนดนตรีอย่างถูกต้องอย่างค่อยเป็นค่อยไป

การเรียนรู้หลังช่วงอายุ 6 ขวบเป็นต้นไปเป็นการเรียนเพื่อให้มีพัฒนาการทุกด้านอย่างสมบูรณ์ ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ จิตใจและสังคม ดนตรีเป็นวิชาที่เกิดจากทักษะไม่ใช่วิชาท่องจำ ยิ่งเรียนยิ่งยาก ผู้ปกครองบางท่านเห็นลูกเล่นไม่ค่อยได้ก็จะคิดว่าลูกไม่มีพรสวรรค์ จริงๆ แล้วทุกคนมีความสามารถมีพรสวรรค์ทั้งนั้น แต่อาจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ และการอบรมเลี้ยงดู สภาพปัจจุบันทำให้ผู้ปกครองไม่มีเวลาที่มานั่งดูลูกซ้อมดนตรี ต้องทำงานทั้งนอกบ้านและดูแลความเรียบร้อยภายในบ้าน เพียงแต่บอกว่าให้ลูกซ้อมดนตรีเท่านั้น เด็กก็คือเด็กเป็นวัยที่อยากเล่นเป็นวัยที่ต้องการกำลังใจ ต้องการคำชม และความสนใจจากพ่อแม่ วิธีที่ดีคือผู้ปกครองควรจัดเวลาการซ้อมให้กับเด็ก และนั่งฟังลูกซ้อมเป็นกำลังใจและคอยให้คำชมเวลาที่เล่นดนตรี

      ครูดนตรีมีส่วนเป็นอย่างมาก เพราะครูสามารถที่จะทำให้เด็กรู้สึกรักดนตรีหรือเกลียดดนตรีไปเลยก็ได้ การสอนไปวันหนึ่งวันหนึ่งโดยไม่รู้ว่าสอนอะไรและจะสอนยังไงต่อไปนั้นเป็นการที่ทำลายโอกาสของเด็ก ถ้าครูไม่มีความสามารถที่จะดึงความสามารถทางดนตรีของเด็กออกมาได้จะทำให้เด็กคนนั้นเสียโอกาสในการเรียนรู้ เพราะเด็กคนนั้นอาจจะเป็นนักเปียโนที่ดีก็ได้ การสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ในการเรียนดนตรี การที่พาเด็กไปดู Concert หรือไปดูการแข่งขันเปียโนเป็นการสร้างแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งให้กับเด็ก ผู้เขียนเองก็มักจะพาลูกศิษย์ไปดู concert อยู่เสมอ ให้ได้เห็นถึงความสามารถของเด็กในวัยเดียวกันว่าทำไมถึงเล่นได้เก่งขนาดนั้น ซ้อมได้อย่างไรวันละหลายชั่วโมง นี่ก็คือการสอนให้เด็กรู้จักแบ่งเวลา บางคนซ้อมวันละ 1 ชั่วโมง บางคนซ้อมสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง หรือบางคนไม่เคยซ้อมเลย การซ้อมเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการเรียนดนตรี



 
เด็กกับดนตรีเป็นเรื่องที่คนทั่วไปคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาเพราะในชีวิตประจำวันเด็กก็ได้ยินได้ฟัง ได้สัมผัสดนตรี ทั้งจากสื่อ จากการเรียนที่โรงเรียน หรือการเรียนพิเศษดนตรี บางคนให้เด็กเรียนดนตรีตามแฟชั่น ให้เด็กเรียนดนตรีเพราะเด็กอยากเรียน ให้เด็กเรียนดนตรีเพราะต้องใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอบ แต่ไม่ได้ศึกษาอย่างจริงจังว่าดนตรีมีคุณค่ากับชีวิตของเด็กมากน้อยเพียงใด

จากการนำเสนอบทความนี้คงทำให้ผู้ปกครองเข้าใจดนตรีมากขึ้น รู้ว่าควรให้เด็กเริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่เมื่อไหร่ เรียนดนตรีแบบไหนจึงเหมาะสม เมื่อเด็กเรียนดนตรีแล้วจะเก่งไม่เก่ง ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับคนรอบข้างทั้งพ่อแม่ คนในครอบครัว และครู

      เด็กคือผ้าขาวจะแต่งเติมอย่างไรก็ได้สีสันตามนั้น
      เด็กไม่สามารถปฏิเสธสิ่งที่พ่อแม่จัดให้ได้
      วันนี้พ่อแม่จัดสิ่งที่ดีให้กับลูกหรือยัง