วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

พ่อแม่ กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตลูก

พ่อแม่ที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงดูลูก มีวิธีการอย่างไร ให้ความรักอย่างเพียงพอ

ความรักความสนใจที่จริงใจก่อให้เกิดความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจ
เด็กได้รับรู้และรู้สึกว่าตนเป็นที่รัก ย่อมอยากแสดงความดีให้พ่อแม่เห็น เป็นการตอบแทน
ให้ความรักอย่างสม่ำเสมอและปราศจากเงื่อนไขในทุกโอกาส
ฝึกวินัยให้ลูกด้วยความรัก เด็กจะพัฒนาวินัยของตนเองได้เมื่อ

มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น
รู้ว่าอะไรถูก-อะไรผิด
มีทางเลือกในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่อสถานการณ์ต่างๆ
พ่อแม่ช่วยส่งเสริมปัจจัยทั้ง 3 ประการนี้ได้โดย

พ่อแม่มีความสม่ำเสมอ อดทน และควบคุมอารมณ์ตนเองได้
สื่อความหมายกับลูกให้ชัดเจน ปากกับใจตรงกัน
ทำความเข้าใจพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของเด็กว่ามีความหมายอย่างไร ทำไปเพื่ออะไร เพื่อใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ให้ความมั่นใจ ใส่ใจพฤติกรรมที่ถูกต้อง มากกว่าการจับจ้องพฤติกรรมที่ พ่อแม่ยังไม่พอใจ
ชมเชยสิ่งที่ดีของเขา
สร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในบ้านให้สามารถเล่นรื้อค้นได้อย่างปลอดภัย
ตั้งกฏเกณฑ์ที่เข้าใจง่าย บอกให้รู้ว่าอะไรที่พ่อแม่ต้องการให้ทำ และอะไรที่ ไม่ต้องการให้ทำ
สถานการณ์บางขณะในบ้าน เช่น พี่น้องทะเลาะกัน อาจนำไปสู่การเกิดอารมณ์รุนแรง พ่อแม่ต้องรีบตัดไฟแต่ต้นลม รู้จังหวะที่จะเข้าไปจัดการอย่างเหมาะสม
มีเวลาให้กับครอบครัว

พ่อแม่ควรมีเวลาเล่นกับลูก โดยเน้นความสนุกสนาน และสร้างสัมพันธ์ที่ดี มากกว่าการควบคุม สั่งสอน หรือการเรียน
สนใจและให้ความสำคัญต่อคู่สมรสของตนเอง

พ่อแม่ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันก่อน เพราะความรัก ความนับถือ
ความศรัทธาของพ่อแม่จะก่อให้เกิดความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจภายในครอบครัว
สอนทักษะในการแก้ปัญหาที่ถูกต้องให้แก่เด็ก

อธิบายให้เด็กเข้าใจว่า วิธีการแก้ปัญหาที่เขาใช้ไปแล้วนั้น ไม่เหมาะสมอย่างไรบ้าง และแนะวิธีที่เหมาะสมกว่า เพื่อว่าเขาจะใด้นำไปใช้ในคราวหน้า
สำหรับเด็กเล็กให้แนะนำตรง ๆ ว่าถ้าพบปัญหานี้ควรทำอย่างไร
สำหรับเด็กโตที่รู้จักคิดเองได้ พ่อแม่อาจตั้งคำถามให้เด็กคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร แล้วจึงเสนอวิธีการต่าง ๆ เพิ่มเติมให้
พัฒนาความเคารพนัถือซึ่งกันและกัน พ่อแม่ควรทำตัวให้เป็นที่เคารพนับถือของลูก เช่น

แสดงกิริยาวาจาสุภาพกับลูก
รู้จักขอโทษเมื่อพ่อแม่เป็นฝ่ายผิด
สนใจกิจกรรมที่ลูกทำด้วยความจริงใจ
แสดงความซื่อสัตย์ รักษาสัญญาให้ลูกเห็น
แสดงความไว้วางใจรับฟังการตัดสินใจของลูก
ไม่แสดงความชื่นชมหรือเข้าข้างลูกคนใดเป็นพิเศษ
ตั้งใจรับฟังลูกอย่างจริงจัง จริงใจ

พ่อแม่ที่ "ได้ยิน" ลูก จะรับรู้และเข้าใจว่าลูกกำลังจะบอกอะไร
สนับสนุนให้แสดงความรู้สึกที่ดีและไม่ดีออกมาได้
ให้คำแนะนำเชิงเสนอแนะ

ใช้คำพูดสั้นๆ ได้ใจความ ดีกว่าการอธิบายหรือเทศนายืดยาว
เปิดโอกาสให้คิดด้วยตนเองก่อน แล้วจึงเสนอแนะวิธีการของพ่อแม่ภายหลัง
กระตุ้นให้ลูกเป็นอิสระทีละน้อย

เด็กเล็กควรมีเสรีภาพ และรู้จักเลือกตัดสินใจในเรื่องเล็กน้อย
เมื่อโตขึ้นก็ค่อยขยายให้รู้เรื่องที่ใหญ่ขึ้นตามลำดับ
ตั้งความหวังให้อยู่ในโลกของความเป็นจริง มีผู้กล่าวไว้ว่า
"อย่าหวังว่าทุกอย่างจะดำเนินไปด้วยดีตลอดเวลา
การเลี้ยงลูกมิใช่เป็นงานที่ง่ายเหมือนปลอกกล้วย
มันเป็นงานที่เต็มไปด้วยความระทมทุกข์และเจ็บปวดหัวใจ
แต่มันก็เต็มไปด้วยความสุขอย่างท่วมท้น และคุ้มค่าเช่นกัน"

พ่อแม่ทุกคนล้วนคาดหวังความสำเร็จของการเลี้ยงดูลูกของตนทั้งสิ้น แต่ความคาดหวังต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง

วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

อาหารเสริมสำหรับเด็ก

การให้อาหารเสริมนั้น เรามีจุดมุ่งหมายที่ชดเชยพลังงาน และสารอาหารที่จำเป็น ที่อาจจะพร่องไป และเพื่อให้เด็กได้คุ้นเคยกับอาหาร ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปให้เหมาะสมตามวัย อันจะเป็นการฝึกให้เด็กมีนิสัยการกินที่ดีและถูกต้องด้วย สำหรับอาหารเสริมในเด็กภายในอายุ 1 ปีนั้น จะมีดังต่อไปนี้ คือ เมื่อเด็กอายุครบ 3 เดือนแล้ว ควรเริ่มหัดให้เขากินข้าวบดใส่น้ำแกงจืด ผลัดเปลี่ยนกับกล้วยสุกครูด เด็กอายุครบ 4 เดือนให้ข้าวบดกับไข่แดงต้มสุกหรือข้าวบดกับตับ หรือสลับกับถั่วต้มเปื่อยก็ได้ เมื่ออายุครบ 5 เดือน ก็ควรจะเริ่มสลับด้วยเนื้อปลา และก็ควรจะเติมด้วยฟักทอง หรือผักบดเข้าไปด้วย เมื่ออายุครบ 6 เดือน อาหารดังกล่าวนี้ ก็จะกลายเป็นอาหารมื้อหลัก 1 มื้อ และให้กล้วยหรือมะละกอสุกเป็นอาหารว่างอีก 1 มื้อ ส่วนนมแม่ก็ควรจะลดลงเหลือวันละ 4 มื้อ เมื่ออายุครบ 7 เดือนแล้ว เราสามารถเริ่มเนื้อสัตว์อื่น บดผสมข้าว หรืออาจจะสลับกับตับและปลาได้ และในระยะนี้ เราก็อาจจะให้ไข่ได้ทั้งฟอง ทั้งไข่ขาวไข่แดง เมื่ออายุครบ 8-9 เดือน อาหารหลักก็จะเป็น 2 มื้อแล้ว ทำให้นมลดลง เหลือประมาณ 3 มื้อ อายุครบ 10-12 เดือน อาหารมื้อหลักก็จะเพิ่มเป็น 3 มื้อโดยส่วนนมนั้น ก็จะลดลงเหลือเพียง 2 มื้อ นั่นก็เป็นเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และก็อาหารเสริม ตามวัยที่เหมาะสม สำหรับที่จะเลี้ยงลูกท่านผู้ฟังให้มีการเจริญเติบโต มีสุขภาพแข็งแรง มีทั้งร่างกายและสมอง และสุขภาพจิตที่ดีด้วย
    
            แม้อาหารจะเป็นส่วนสำคัญในการเลี้ยงดูเด็กก็จริง แต่ก็ยังมีสิ่งอื่นอีก ที่มีความสำคัญไม่น้อย และที่จะช่วยเกื้อหนุนให้เด็กของเราเจริญเติบโตได้ดี สิ่งถัดไปในการเลี้ยงดูเด็กที่ควรกระทำก็คือ การพาเด็กไปรับการตรวจสุขภาพจากแพทย์ และรับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ ตามกำหนดที่แพทย์นัด ทั้งนี้เพื่อป้องกันการติดโรค ที่สามารถจะป้องกันไว้ก่อนได้ และเมื่อเด็กเจริญเติบโตขึ้น ความอบอุ่นจากพ่อแม่ทางบ้าน ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพจิตของเด็กด้วย และเมื่อถึงวัยอันควรก็ส่งเด็กเข้าโรงเรียน เพื่อศึกษาหาความรู้และอบรมสั่งสอนให้มีระเบียบวินัยและเป็นคนดี แต่ไม่ควรเร่งให้เด็กเข้าโรงเรียน ก่อนที่เด็กจะพร้อม นอกจากนี้การออกกำลังกาย หรือพลศึกษา ก็เป็นสิ่งสำคัญ สำหรับสุขภาพทางร่างกาย และจิตใจของเด็กด้วย ท่านผู้ฟังครับ การเคี่ยวเข็ญให้เด็กเรียนมากเกินไป โดยมีการพักผ่อนออกกำลังกายน้อยหรือไม่มีเลย จะมีผลเสียถึงสุขภาพทางร่างกายและจิตใจและเด็กอย่างมากด้วย ปัญหาเด็กเกเรหรือติดยาเสพติด ที่มีปัญหามากในปัจจุบัน อาจจะแก้ไขได้ทางหนึ่งโดยการจัดให้มีสนามเด็กเล่น และสนามกีฬากระจายไป ให้เพียงพอที่จะให้เด็กของเราใช้เวลาว่างในการออกกำลังกาย และเล่นกีฬาแทนที่จะไปมั่วสุมในที่อันไม่ควร ดังนั้น ถ้าจะเลี้ยงเด็กของท่าน ให้เจริญเติบโตดีต่อไปก็ควรจะให้อาหารดี ซึ่งได้แก่ นมแม่ และอาหารเสริมตามวัย พาไปตรวจสุขภาพและรับวัคซีนป้องกันโรคตามกำหนด ให้ความอบอุ่นทางจิตใจ ให้การศึกษา และให้ออกกำลังกายให้พอเหมาะ

โดย:รศ.นพ.วีระพงษ์ ฉัตรานนท์