วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554

คอมพิวเตอร์สำหรับเด็กปฐมวัย

คอมพิวเตอร์สำหรับเด็กปฐมวัย
(Using Computers in Pre-school)

แนวคิดทฤษฎีและหลักการคอมพิวเตอร์สำหรับเด็กปฐมวัย ความรู้พื้นฐานในคอมพิวเตอร์สำหรับเด็กปฐมวัย การเลือกและการจัดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ เทคนิคการสอนคอมพิวเตอร์สำหรับเด็กปฐมวัย การฝึกฝนปฏิบัติการสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับเด็กปฐมวัย การวัดและการประเมินผลการใช้คอมพิวเตอร์สำหรับเด็กปฐมวัย ครูและผู้ปกครองกับการจัดโปรแกรมเพื่อส่งเสริมประสบการณ์การใช้คอมพิวเตอร์สำหรับเด็กปฐมวัย

e-learning : http://tcu.npru.ac.th/
จุดประสงค์ของวิชา

1. เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับแนวคิด ทฤษฎีและหลักการของคอมพิวเตอร์สำหรับเด็กปฐมวัย
2. สามารถอธิบายเทคนิคการสอน การเลือกโปรแกรมที่เหมาะสมเพื่อการส่งเสริมพัฒนาการต่าง ๆ ตลอดจนสามารถจัดกิจกรรมการใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
3. ให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติการใช้คอมพิวเตอร์และสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับเด็กปฐมวัย


หัวข้อวิชา (course outline)

1. แนวคิด ทฤษฎี หลักการ และความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์สำหรับเด็กปฐมวัย
2. การเลือก การจัดโปรแกรม การวัดและการประเมินผลการใช้คอมพิวเตอร์สำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ
3. บทบาทของครูและผู้ปกครองในการจัดกิจกรรม เพื่อการส่งเสริมประสบการณ์และการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
4. เทคนิคการสอนคอมพิวเตอร์สำหรับเด็กปฐมวัย
5. การจัดสภาพแวดล้อมที่เป็นมัลติมีเดียสำหรับการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
6. การใช้คอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐานกับระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ (Microsoft Windows)
7. ระบบคอมพิวเตอร์และมัลติมีเดียสำหรับเด็กปฐมวัย
8. การใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย
9. การใช้โปรแกรมสำเร็จรูป Microsoft Office ขั้นพื้นฐาน
10. การใช้โปรแกรมกราฟิก Adobe Photoshop ขั้นพื้นฐาน
11. การใช้โปรแกรมบันทึกเสียง CoolEdit ขั้นพื้นฐาน
12. การใช้โปรแกรมนำเสนอ Microsoft PowerPiont ขั้นพื้นฐาน
13. การสร้างสื่อสิ่งพิมพ์สำหรับเด็กปฐมวัย
14. การสร้างสื่อมัลติมีเดียสำหรับเด็กปฐมวัย
15. การนำเสนอผลงานการสร้างโปรแกรมมัลติมีเดียสำหรับเด็กปฐมวัย

การเรียนและการสอน ประกอบด้วย

1. การบรรยายในชั่วโมงเรียนโดยใช้สื่อต่างๆ เพื่อให้มีความรู้พื้นฐานที่สามารถค้นคว้าต่อได้
2. ให้นักศึกษาจัดทำแฟ้มบันทึกการเรียนรู้และการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมนอกห้องเรียน หลังการเรียนในแต่ละหัวข้อวิชา โดยอาจารย์ผู้สอนจะติดตามอ่านแฟ้มบันทึกการเรียนรู้ เพื่อติดตามและทราบพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษา
3. ให้นักศึกษาและทำความเข้าใจเนื้อหาวิชาด้วยการทดลองปฏิบัติการในห้องคอมพิวเตอร์
4. ให้นักศึกษาค้นคว้านอกห้องเรียน จากตำรา เอกสารประกอบการสอน และ web sites ต่างๆ





อุปกรณ์สื่อการสอน ได้แก่
1. เครื่อง LCD projector และ คอมพิวเตอร์
2. ตำรา และ เอกสารประกอบการสอน
3. web sites : http://tcu.npru.ac.th/ และ http://pathomwai.pantown.com/

การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ประกอบด้วย

1. บันทึกการเรียนรู้และการศึกษาค้นคว้านอกห้องเรียน 10 %
2. การปฏิบัติงานระหว่างภาคเรียน 60 %
3. สอบปลายภาค 30 %

ระยะเวลาการศึกษา

สัปดาห์ที่ 1
- แนวคิด ทฤษฎี หลักการ และความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์สำหรับเด็กปฐมวัย
- การเลือก การจัดโปรแกรม การวัดและการประเมินผลการใช้คอมพิวเตอร์สำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ

สัปดาห์ที่ 2
- บทบาทของครูและผู้ปกครองในการจัดกิจกรรม เพื่อการส่งเสริมประสบการณ์และการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
- การจัดสภาพแวดล้อมที่เป็นมัลติมีเดียสำหรับการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย

สัปดาห์ที่ 3
- เทคนิคการสอนคอมพิวเตอร์สำหรับเด็กปฐมวัย และการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสำหรับเด็กปฐมวัย
- การใช้คอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐานกับระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ (Microsoft Windows)

สัปดาห์ที่ 4
- ระบบคอมพิวเตอร์และมัลติมีเดียสำหรับเด็กปฐมวัย
- การใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย

สัปดาห์ที่ 5
- การใช้โปรแกรมสำเร็จรูป Microsoft Office ขั้นพื้นฐาน

สัปดาห์ที่ 6
- การใช้โปรแกรมกราฟิก Adobe Photoshop ขั้นพื้นฐาน (1)

สัปดาห์ที่ 7
- การใช้โปรแกรมกราฟิก Adobe Photoshop (2)
- ปฏิบัติการสร้างสื่อสิ่งพิมพ์สำหรับเด็กปฐมวัย

สัปดาห์ที่ 8
- การสร้างสื่อสิ่งพิมพ์สำหรับเด็กปฐมวัย (1)
- ปฏิบัติการสร้างสื่อสิ่งพิมพ์สำหรับเด็กปฐมวัย

สัปดาห์ที่ 9
- การสร้างสื่อสิ่งพิมพ์สำหรับเด็กปฐมวัย (2)
- ปฏิบัติการสร้างสื่อสิ่งพิมพ์สำหรับเด็กปฐมวัย

สัปดาห์ที่ 10
- การใช้โปรแกรมบันทึกเสียง CoolEdit ขั้นพื้นฐาน
- ปฏิบัติการบันทึกเสียงด้วยคอมพิวเตอร์

สัปดาห์ที่ 11
- การสร้างสื่อมัลติมีเดียสำหรับเด็กปฐมวัย
- การใช้โปรแกรมนำเสนอ Microsoft PowerPiont ขั้นพื้นฐาน (1)

สัปดาห์ที่ 12
- การใช้โปรแกรมนำเสนอ Microsoft PowerPiont ขั้นพื้นฐาน (2)
- ปฏิบัติการสร้างสื่อมัลติมีเดียสำหรับเด็กปฐมวัย

สัปดาห์ที่ 13
- สอบปฏิบัติรอบแรก
- หลักการสร้างสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสำหรับเด็กปฐมวัย

สัปดาห์ที่ 14
- สอบปฏิบัติรอบสอง
- หลักการสร้างสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสำหรับเด็กปฐมวัย

สัปดาห์ที่ 15
- การนำเสนอผลงานการสร้างโปรแกรมมัลติมีเดียสำหรับเด็ก
- ส่งงานนำเสนอกลุ่มและส่งข้อสอบข้อเขียน

หมายเหตุ
- ไม่เกินสัปดาห์ที่ 16 ส่งงานนำเสนอเดี่ยวขึ้นเว็บส่วนตัว

อาหารเสริมสำหรับเด็ก

รศ.นพ.วีระพงษ์ ฉัตรานนท์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
            การให้อาหารเสริมนั้น เรามีจุดมุ่งหมายที่ชดเชยพลังงาน และสารอาหารที่จำเป็น ที่อาจจะพร่องไป และเพื่อให้เด็กได้คุ้นเคยกับอาหาร ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปให้เหมาะสมตามวัย อันจะเป็นการฝึกให้เด็กมีนิสัยการกินที่ดีและถูกต้องด้วย สำหรับอาหารเสริมในเด็กภายในอายุ 1 ปีนั้น จะมีดังต่อไปนี้ คือ เมื่อเด็กอายุครบ 3 เดือนแล้ว ควรเริ่มหัดให้เขากินข้าวบดใส่น้ำแกงจืด ผลัดเปลี่ยนกับกล้วยสุกครูด เด็กอายุครบ 4 เดือนให้ข้าวบดกับไข่แดงต้มสุกหรือข้าวบดกับตับ หรือสลับกับถั่วต้มเปื่อยก็ได้ เมื่ออายุครบ 5 เดือน ก็ควรจะเริ่มสลับด้วยเนื้อปลา และก็ควรจะเติมด้วยฟักทอง หรือผักบดเข้าไปด้วย เมื่ออายุครบ 6 เดือน อาหารดังกล่าวนี้ ก็จะกลายเป็นอาหารมื้อหลัก 1 มื้อ และให้กล้วยหรือมะละกอสุกเป็นอาหารว่างอีก 1 มื้อ ส่วนนมแม่ก็ควรจะลดลงเหลือวันละ 4 มื้อ เมื่ออายุครบ 7 เดือนแล้ว เราสามารถเริ่มเนื้อสัตว์อื่น บดผสมข้าว หรืออาจจะสลับกับตับและปลาได้ และในระยะนี้ เราก็อาจจะให้ไข่ได้ทั้งฟอง ทั้งไข่ขาวไข่แดง เมื่ออายุครบ 8-9 เดือน อาหารหลักก็จะเป็น 2 มื้อแล้ว ทำให้นมลดลง เหลือประมาณ 3 มื้อ อายุครบ 10-12 เดือน อาหารมื้อหลักก็จะเพิ่มเป็น 3 มื้อโดยส่วนนมนั้น ก็จะลดลงเหลือเพียง 2 มื้อ นั่นก็เป็นเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และก็อาหารเสริม ตามวัยที่เหมาะสม สำหรับที่จะเลี้ยงลูกท่านผู้ฟังให้มีการเจริญเติบโต มีสุขภาพแข็งแรง มีทั้งร่างกายและสมอง และสุขภาพจิตที่ดีด้วย
    
            แม้อาหารจะเป็นส่วนสำคัญในการเลี้ยงดูเด็กก็จริง แต่ก็ยังมีสิ่งอื่นอีก ที่มีความสำคัญไม่น้อย และที่จะช่วยเกื้อหนุนให้เด็กของเราเจริญเติบโตได้ดี สิ่งถัดไปในการเลี้ยงดูเด็กที่ควรกระทำก็คือ การพาเด็กไปรับการตรวจสุขภาพจากแพทย์ และรับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ ตามกำหนดที่แพทย์นัด ทั้งนี้เพื่อป้องกันการติดโรค ที่สามารถจะป้องกันไว้ก่อนได้ และเมื่อเด็กเจริญเติบโตขึ้น ความอบอุ่นจากพ่อแม่ทางบ้าน ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพจิตของเด็กด้วย และเมื่อถึงวัยอันควรก็ส่งเด็กเข้าโรงเรียน เพื่อศึกษาหาความรู้และอบรมสั่งสอนให้มีระเบียบวินัยและเป็นคนดี แต่ไม่ควรเร่งให้เด็กเข้าโรงเรียน ก่อนที่เด็กจะพร้อม นอกจากนี้การออกกำลังกาย หรือพลศึกษา ก็เป็นสิ่งสำคัญ สำหรับสุขภาพทางร่างกาย และจิตใจของเด็กด้วย ท่านผู้ฟังครับ การเคี่ยวเข็ญให้เด็กเรียนมากเกินไป โดยมีการพักผ่อนออกกำลังกายน้อยหรือไม่มีเลย จะมีผลเสียถึงสุขภาพทางร่างกายและจิตใจและเด็กอย่างมากด้วย ปัญหาเด็กเกเรหรือติดยาเสพติด ที่มีปัญหามากในปัจจุบัน อาจจะแก้ไขได้ทางหนึ่งโดยการจัดให้มีสนามเด็กเล่น และสนามกีฬากระจายไป ให้เพียงพอที่จะให้เด็กของเราใช้เวลาว่างในการออกกำลังกาย และเล่นกีฬาแทนที่จะไปมั่วสุมในที่อันไม่ควร ดังนั้น ถ้าจะเลี้ยงเด็กของท่าน ให้เจริญเติบโตดีต่อไปก็ควรจะให้อาหารดี ซึ่งได้แก่ นมแม่ และอาหารเสริมตามวัย พาไปตรวจสุขภาพและรับวัคซีนป้องกันโรคตามกำหนด ให้ความอบอุ่นทางจิตใจ ให้การศึกษา และให้ออกกำลังกายให้พอเหมาะ

musiquepsgs2

repetition musique 1

ดนตรีเด็ก

วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

ดนตรีกับเด็ก: เรียนเมื่อไหร่ เรียนอย่างไร

"เด็กควรเริ่มเรียนดนตรีเมื่อไหร่?" ผู้ปกครองมักจะมีคำถามแบบนี้เสมอ คำตอบที่ได้รับ บางทีก็ได้รับข้อมูลที่ถูกบ้างผิดบ้างจากครูดนตรี บางครั้งพ่อแม่พาลูกไปที่โรงเรียนดนตรี ครูจะบอกว่ายังเล็กไป ไว้ 7 ขวบค่อยมา พอลูก 7 ขวบพาไปอีก ครูอีกคนบอกว่าน่าจะมาตั้งแต่เล็กๆ ผู้ปกครองคงจะสับสน ปัญหานี้เกิดกับผู้ปกครองหลายคนที่ได้รับคำตอบถูกบ้างผิดบ้าง จากครูดนตรีที่ไม่รู้จริง


  จริงๆแล้ว เด็กเรียนดนตรีได้ตั้งแต่ยังเล็กๆอยู่ยิ่งเล็กยิ่งดี แต่ไม่ได้หมายความว่า 1 ขวบมานั่งเล่นเปียโน เพราะกล้ามเนื้อ แต่จะเรียนรู้ดนตรีได้ในวิธีที่ต่างกันขึ้นอยู่กับพัฒนาการกับการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละวัย เด็กสามารถสัมผัสกับดนตรีตั้งแต่อยู่ในครรภ์โดยอาศัยการฟัง เด็กที่ได้รับการกระตุ้นอย่างเหมาะสมตั้งแต่ก่อนเกิดจะช่วยให้สมองได้รับการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ เด็กแรกเกิดจะเรียนดนตรีในลักษณะที่เป็นการสัมผัสประกอบเสียง ในขณะที่เด็กกำลังฟังอยู่นั้นคุณพ่อคุณแม่อาจใช้การสัมผัสลูกตามจังหวะเพลง ทั้งนี้ก็ต้องเลือกเพลงให้เหมาะสมกับเด็กด้วย เด็กเล็กๆ เรียนรู้ในเรื่องของเสียง และจังหวะได้

เด็กอายุ 3 ขวบเป็นวัยที่เริ่มเล่นเครื่องดนตรีได้เพราะกล้ามเนื้อเริ่มแข็งแรงแต่จะเรียนในลักษณะของการร้องหรือเต้นให้เข้ากับจังหวะ หลักสูตรที่สอนสำหรับเด็กเล็กอาจใช้เครื่องเคาะเครื่องตีเข้ามาผสม การสอนเรื่องเสียง และจังหวะ จะเป็นการผสมระหว่างการเรียนดนตรีกับการเล่นที่เป็นไปตามธรรมชาติ ผู้ปกครองหลายท่านไม่เข้าใจก็จะคิดเสมอว่าลูกไม่เห็นได้เล่นเป็นเพลงเลยแล้วให้หยุดเรียน รอให้โตพอที่จะเล่นเปียโนได้ค่อยให้เรียนใหม่ จริงๆ แล้วเป็นการทำให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้
หลังจากเด็กได้เรียนรู้ดนตรีขั้นพื้นฐาน อันได้แก่ การร้อง การเต้น ให้เข้ากับจังหวะได้ดีแล้ว เป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องพิจารณาผู้เรียนว่าสมควรจะได้เรียนดนตรีชนิดใดชนิดหนึ่งเมื่อใด เช่นการเรียนเปียโน ส่วนมากจะให้เด็กเริ่มเรียนในช่วงอายุ 4 ปี อาจจะเร็วหรือช้ากว่านี้ก็ได้ขึ้นอยู่กับพัฒนาการด้านร่างกาย พัฒนาการด้านการเรียนรู้ดนตรี ความต้องการและความสนใจของผู้เรียนเป็นสำคัญ


ช่วงเวลาที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุดคือช่วง 0-6 ขวบ พูดง่ายๆ ก็คือในสมองของเด็กช่วงเวลานี้จะรับรู้ทุกอย่าง เพราะเป็นการรับเพียงด้านเดียวไม่สามารถปฏิเสธได้ เหมือนผ้าขาวที่บริสุทธิ์ไม่ว่าจะใส่อะไรไปก็จะรับได้ตามนั้น เพราะเส้นใยของสมองรวมทั้งรอยหยักที่ผิวสมองจะเยอะที่สุด ช่วงนี้เป็นวัยที่มีจินตนาการสูง เพราะฉะนั้นผู้ปกครองควรใจเย็นๆ ให้ลูกได้รับการฝึกฝนดนตรีอย่างถูกต้องอย่างค่อยเป็นค่อยไป

การเรียนรู้หลังช่วงอายุ 6 ขวบเป็นต้นไปเป็นการเรียนเพื่อให้มีพัฒนาการทุกด้านอย่างสมบูรณ์ ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ จิตใจและสังคม ดนตรีเป็นวิชาที่เกิดจากทักษะไม่ใช่วิชาท่องจำ ยิ่งเรียนยิ่งยาก ผู้ปกครองบางท่านเห็นลูกเล่นไม่ค่อยได้ก็จะคิดว่าลูกไม่มีพรสวรรค์ จริงๆ แล้วทุกคนมีความสามารถมีพรสวรรค์ทั้งนั้น แต่อาจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ และการอบรมเลี้ยงดู สภาพปัจจุบันทำให้ผู้ปกครองไม่มีเวลาที่มานั่งดูลูกซ้อมดนตรี ต้องทำงานทั้งนอกบ้านและดูแลความเรียบร้อยภายในบ้าน เพียงแต่บอกว่าให้ลูกซ้อมดนตรีเท่านั้น เด็กก็คือเด็กเป็นวัยที่อยากเล่นเป็นวัยที่ต้องการกำลังใจ ต้องการคำชม และความสนใจจากพ่อแม่ วิธีที่ดีคือผู้ปกครองควรจัดเวลาการซ้อมให้กับเด็ก และนั่งฟังลูกซ้อมเป็นกำลังใจและคอยให้คำชมเวลาที่เล่นดนตรี

      ครูดนตรีมีส่วนเป็นอย่างมาก เพราะครูสามารถที่จะทำให้เด็กรู้สึกรักดนตรีหรือเกลียดดนตรีไปเลยก็ได้ การสอนไปวันหนึ่งวันหนึ่งโดยไม่รู้ว่าสอนอะไรและจะสอนยังไงต่อไปนั้นเป็นการที่ทำลายโอกาสของเด็ก ถ้าครูไม่มีความสามารถที่จะดึงความสามารถทางดนตรีของเด็กออกมาได้จะทำให้เด็กคนนั้นเสียโอกาสในการเรียนรู้ เพราะเด็กคนนั้นอาจจะเป็นนักเปียโนที่ดีก็ได้ การสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ในการเรียนดนตรี การที่พาเด็กไปดู Concert หรือไปดูการแข่งขันเปียโนเป็นการสร้างแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งให้กับเด็ก ผู้เขียนเองก็มักจะพาลูกศิษย์ไปดู concert อยู่เสมอ ให้ได้เห็นถึงความสามารถของเด็กในวัยเดียวกันว่าทำไมถึงเล่นได้เก่งขนาดนั้น ซ้อมได้อย่างไรวันละหลายชั่วโมง นี่ก็คือการสอนให้เด็กรู้จักแบ่งเวลา บางคนซ้อมวันละ 1 ชั่วโมง บางคนซ้อมสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง หรือบางคนไม่เคยซ้อมเลย การซ้อมเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการเรียนดนตรี



 
เด็กกับดนตรีเป็นเรื่องที่คนทั่วไปคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาเพราะในชีวิตประจำวันเด็กก็ได้ยินได้ฟัง ได้สัมผัสดนตรี ทั้งจากสื่อ จากการเรียนที่โรงเรียน หรือการเรียนพิเศษดนตรี บางคนให้เด็กเรียนดนตรีตามแฟชั่น ให้เด็กเรียนดนตรีเพราะเด็กอยากเรียน ให้เด็กเรียนดนตรีเพราะต้องใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอบ แต่ไม่ได้ศึกษาอย่างจริงจังว่าดนตรีมีคุณค่ากับชีวิตของเด็กมากน้อยเพียงใด

จากการนำเสนอบทความนี้คงทำให้ผู้ปกครองเข้าใจดนตรีมากขึ้น รู้ว่าควรให้เด็กเริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่เมื่อไหร่ เรียนดนตรีแบบไหนจึงเหมาะสม เมื่อเด็กเรียนดนตรีแล้วจะเก่งไม่เก่ง ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับคนรอบข้างทั้งพ่อแม่ คนในครอบครัว และครู

      เด็กคือผ้าขาวจะแต่งเติมอย่างไรก็ได้สีสันตามนั้น
      เด็กไม่สามารถปฏิเสธสิ่งที่พ่อแม่จัดให้ได้
      วันนี้พ่อแม่จัดสิ่งที่ดีให้กับลูกหรือยัง

วันจันทร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2554

สื่อและของเล่นเด็กปฐมวัย

สื่อและของเล่นเด็กปฐมวัย
สื่อและของเล่น จัดเป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง สภาพแวดล้อมหนึ่ง ที่มีผลต่อการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก สื่อและของเล่นแต่ละประเภท มีส่วนในการพัฒนาเด็กแตกต่างกันไป การเลือกใช้และผลิต จึงเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมทั้งครู จะมีบทบาทในการพิจารณาให้เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยของเด็ก และตรงตามวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะการนำสื่อและของเล่นมาใช้ประกอบกิจกรรมการเรียนการสอน ดังนั้น การผลิตสื่อและของเล่น สำหรับเด็กปฐมวัย จึงควรคำนึงถึงหลักการผลิต การเลือกใช้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อให้สามารถส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้านต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน


หลักการเลือกสื่อและของเล่น
แนวทางในการเลือกสื่อและของเล่นโดยทั่วไป ควรมีหลักเกณฑ์การเลือกเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็กหรือผู้เรียนดังนี้
1. การเลือกสื่อควรพิจารณาให้มีความสัมพันธ์กับเรื่องที่ต้องการให้เด็กๆได้เรียนรู้ เพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ และสอดคล้องกับเนื้อหาอย่างครบถ้วน
2. การนำสื่อไปใช้ในกิจกรรมหรือประสบการณ์ให้เด็ก ต้องคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นก่อนนำสื่อไปใช้ให้เกิดประสิทธิผล ควรมีการทดลองใช้และติดตามผลการใช้สื่อนั้นๆ ก่อน
3. สื่อควรสร้างเสริมความคิดและให้แนวทางในการแก้ปัญหาได้หลายๆ ด้าน
4. กรณีผลิตสื่อขึ้นใช้เอง ควรพิจารณาเทคนิคการผลิตสื่อนั้นๆ ว่า ดี หรือมีความเหมาะสมในการใช้งานมากน้อยแค่ไหน เช่น สี ขนาด สัดส่วน ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง
5. สื่อต้องเหมาะสมกับวัย เพศ ระดับความรู้ ประสบการณ์เดิมของผู้รับ
6. การสร้างสื่อรวมทั้งการใช้สื่อ ควรยึดหลักการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ อันได้แก่ ความต้องการทางกาย ความต้องการความปลอดภัย ความต้องการการยอมรับของกลุ่ม ความต้องการการยกย่องนับถือ ความต้องการความสำเร็จในชีวิต
7. ควรเลือกใช้สื่อชนิดที่เข้าถึงและเป็นที่นิยมของกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงภาษาที่สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้ง่าย น่าสนใจ และใช้สื่ออย่างคุ้มค่า
8. สื่อนั้นๆ ผู้รับควรรับรู้โดยผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าให้มากที่สุด
9. สื่อที่ใช้ควรเป็นสถานการณ์ในปัจจุบัน ทันต่อเหตุการณ์และความก้าวหน้า รวดเร็วตรงตามเป้าหมาย
10. ควรนำศิลปวัฒนธรรม ประเพณี กิจกรรม บุคลากร องค์กร หรือทรัพยากรต่างๆ ในท้องถิ่น มาใช้เป็นสื่อให้มากที่สุด


หลักการใช้สื่อ วัสดุ - อุปกรณ์และของเล่นประกอบการจัดกิจกรรมสำหรับเด็กปฐมวัย
1. สื่อนั้น ควรส่งเสริมพัฒนาการเด็กในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านสติปัญญา,ร่างกาย, สังคม, อารมณ์และจิตใจ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม
2. เน้นสื่อที่เป็นจริง หรือเป็นสื่อที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ
3. ควรเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเด็ก สะดุดตา เร้าความสนใจของเด็กได้ดี
4. มีความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก
5. สื่อนั้นๆ ต้องเหมาะสมตามวัยหรือพัฒนาการเด็ก
6. มีขนาดเหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย น้ำหนักเบา เด็กสามารถหยิบจับ เคลื่อนย้ายด้วยตนเองได้สะดวก


ลักษณะของสื่อและวัสดุอุปกรณ์ที่ดี
1. สื่อและวัสดุอุปกรณ์ต้องเหมาะกับวัยของเด็ก
2. มีความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย ไม่แหลมคม
3. ทำด้วยวัสดุที่ไม่เป็นพิษ และไม่ติดไฟง่าย ที่สำคัญไม่ควรทำด้วยแก้ว เพราะอาจแตกและเป็นอันตรายต่อเด็กได้
4. มีการออกแบบที่ดี มีวิธีการใช้ที่ไม่ยุ่งยาก
5. มีสีสันสวยงาม ดึงดูดความสนใจของเด็กได้ดี
6. เร้าใจเด็ก ชวนให้คิดคำนึง สร้างจินตนาการ ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหา
7. หาซื้อได้ง่ายด้วยราคาประหยัด หรือสามารถผลิตขึ้นใช้เองได้
8. ผ่านการทดสอบจากผู้ผลิต และได้มีการทดลองใช้ก่อนนำไปใช้จริง




การจัดเตรียมวัสดุเพื่อการผลิตสื่อการเรียนการสอน
สื่อการเรียนการสอน เป็นสิ่งที่ครูสามารถจัดทำหรือผลิตขึ้นเองได้ โดยจัดหาวัสดุจากสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัว อาจเป็นวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น หรือวัสดุเหลือใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ดี การจัดแบ่งสื่อ สามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
1.วัสดุท้องถิ่น
2.วัสดุเหลือใช้
3.วัสดุทำขึ้นเอง
4.วัสดุซื้อมาราคาถูก

ของเล่นสำหรับเด็กปฐมวัย
การเล่น เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กที่ขาดมิได้ อาจกล่าวได้ว่า การเล่นเป็นการทำงานของเด็ก โดยธรรมชาติแล้ว เด็กจะชอบเล่นเนื่องจาก ทำให้เด็กได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน ได้ผ่อนคลายความเครียด ประการสำคัญ เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากการเล่น ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เด็ก
ได้รับการพัฒนาส่งเสริมพัฒนาการได้สูงสุด จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากของเล่น




ประโยชน์ของของเล่น
การจัดหาของเล่นให้แก่เด็ก ควรเหมาะสมกับวัยและพัฒนาการ รวมทั้งให้โอกาสเด็กได้เล่น ซึ่งเด็กจะได้รับประโยชน์ดังนี้
1. ของเล่นช่วยให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสด้านต่างๆ ได้อย่างเต็มที่และส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน
2. ของเล่นช่วยกระตุ้นความสนใจ ความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก
3. ของเล่นช่วยตอบสนองความต้องการของเด็กในการทำกิจกรรมต่างๆ
4. ของเล่นให้โอกาสเด็กได้แสดงความรู้สึกนึกคิดของตนเองอย่างอิสระในการเล่น
5. ของเล่นช่วยสร้างเสริมบุคลิกลักษณะพื้นฐานที่ดีให้แก่เด็ก และยังช่วยพัฒนาเด็กในการเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้

อย่างไรก็ดี ของเล่นสามารถจำแนกประเภทตามคุณประโยชน์ด้านการพัฒนาเด็กด้านต่างๆ ดังนี้
1. ของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการทางกายของเด็กปฐมวัย ของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านนี้ ก่อให้เกิดการพัฒนาทางการใช้ประสาทสัมผัส อันได้แก่ ตา หู จมูกดมกลิ่น ลิ้นชิมรส และกายสัมผัส ของเล่นประเภทนี้จะให้คุณประโยชน์แก่เด็กในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น เครื่องแขวนต่างๆ ให้ประโยชน์ด้านการกลอกสายตา ทำให้ประสาทตาว่องไว ฟุตบอลผ้าที่ใช้ผ้าชนิดหรือสีต่างๆ ช่วยพัฒนาการเรียนรู้เรื่องผิวสัมผัส การขยำ ขว้าง ปา ของเล่นตักตวง เล่นน้ำเล่นทราย จะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อนิ้วมือ เป็นต้น
2. ของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กปฐมวัย เป็นของเล่นที่เล่นแล้ว ส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการด้านอารมณ์ ช่วยให้จิตใจแจ่มใส เบิกบาน หากเป็นของเล่นที่เด็กเล่นคนเดียว มักมีเสียงและสามารถเคลื่อนไหวได้ ซึ่งเด็กจะสนใจและสามารถเล่นได้นานๆ ยกตัวอย่างเช่น กล่องดนตรี เครื่องเคาะหรือเขย่าต่างๆ ตุ๊กตาคนหรือสัตว์ หุ่นต่างๆ เป็นต้น
3. ของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการทางสังคมของเด็กปฐมวัย พบว่า เป็นของเล่นที่เด็กเล่นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป การเล่นร่วมกัน เด็กๆจะเรียนรู้และเข้าใจความคิดและความรู้สึกของผู้อื่น การเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน การเอื้อเฟื้อช่วยเหลือ การแบ่งปัน เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ควรสนับสนุนและจัดประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้แก่เด็ก ทั้งยังช่วยลดพฤติกรรมการยึดตนเองเป็นศูนย์กลางของเด็กได้อีกด้วย ของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านนี้ ได้แก่ บันไดงูและลูกเต๋า เล่นขายของ เตาขนมครก เชือกชนิดยาว (ที่เด็กๆ สามารถเล่นแกว่งเชือกได้หลายคน) บัตรไพ่ เป็นต้น
4. ของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา เป็นของเล่นที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านคณิตศาสตร์ ด้านสังคมศาสตร์ และอื่นๆ ของเล่นที่ส่งเสริมด้านนี้ เด็กๆจะสนุกสนานกับวิธีเล่นในรูปแบบต่างๆ อาจมีการแข่งขันกันเล่น ฝึกความจำ การสังเกต รวมทั้งพัฒนาด้านภาษา



ลักษณะของเล่นที่ดี
1. ต้องเหมาะสมกับวัยและความสามารถของเด็ก
2. มีความปลอดภัย แข็งแรง ทนทาน ปราศจากพิษ ทำความสะอาดได้ง่าย
3. ดึงดูดความสนใจของเด็กและเป็นของเล่นที่เด็กๆทั่วไปนิยมเล่น
4. ไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง อาจใช้วัสดุเหลือใช้ หรือวัสดุในท้องถิ่น
5. ช่วยพัฒนาประสาทสัมผัสและการรับรู้ของผู้เล่นได้เหมาะสมตามวัย
6. กระตุ้นให้เด็กเกิดจินตนาการและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
7. ของเล่นที่ดีควรพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตั้งแต่ระดับหยาบ จนถึงการเคลื่อนไหวที่ละเอียดเพิ่มขึ้นตามวัย เช่น ต่อบล็อก ลากจูงหรือเข็นรถ ขี่จักรยาน เล่นกีฬา เล่นเครื่องดนตรี เป็นต้น
ของเล่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็ก ที่ผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง พ่อแม่ ครู และผู้เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย ต้องจัดหาของเล่นที่ดี มีคุณภาพ เหมาะสมตามวัย เพื่อส่งเสริมให้เด็ก เจริญเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ

วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2554

พระอาทิตย์ยิ้มแฉ่ง

เพลงหนอนผีเสื้อ-MV-Karaoke

เพลงสำหรับเด็กปฐมวัย

1. เพลงหนูไปโรงเรียน
ตื่นเช้าแปรงฟันล้างหน้า
อาบน้ำแล้วมาแต่งตัว
กินอาหารของดีมีทั่ว
หนูจะไปโรงเรียน
สวัสดีค่ะคุณพ่อ.....
สวัสดีค่ะคุณแม่
….
ลัน ลัน ลา ลัน ลา ลัน ลา
ลัน ลัน ลา ลัน ลา ลัน ลา

2. เพลงเดินและวิ่ง
เดิน เดิน วิ่ง วิ่ง เดิน เดิน
อย่ามัวเพลินเดินวิ่งให้ดี
บังเอิญเดินวิ่งไม่ดี
เราจะมีอันตราย

3. เพลงอาหารดีมีประโยชน์
อาหารดีนั้นมีประโยชน์
คือผักสดและเนื้อหมู ปู ปลา
เป็ด ไก่ ไข่ นม ผลไม้นานา(ซ้ำ)
ล้วนมีคุณค่าให้ประโยชน์ร่างกาย

4. เพลงไก่ที่ฉันเลี้ยง
ไก่ที่ฉันเลี้ยงมันเป็นเพื่อนทุกวัน
มันขันให้ฉันฟัง(ซ้ำ) เอ๊ก อิ เอ๊ก กุ๊ก กุ๊ก กุ๊ก ไก่
เอย(ซ้ำ)

5. เพลงไก่โต้ง
ไก่โต้งขันโอ้ก อิ โอ้ก (ซ้ำ)
ตัวเมียไข่ดก กะเต๊ก กะต๊าก (ซ้ำ)
ออกไข่สบายใจมาก(ซ้ำ)
กะเต๊ก กะต๊าก กะโต๊ก กะเต๊ก(ซ้ำ)

6. เพลงกุ๊กไก่
ไก่กุ๊กกุ๊กไก่(ซ้ำ)
เลี้ยงลูกจนใหญ่ไม่มีนมให้ลูกกิน
ลูกร้องเจี๊ยบ เจี๊ยบ แม่ก็เรียกมาคุ้ยดิน
ทำมาหากินตามประสาไก่เอย

7. เพลงไก่ที่บ้านฉัน
ไก่ที่บ้านฉันมันขันได้ไพเราะดี
โก่งคอแล้วขันดังเสียงลั่นธรณี
โอ่ก โอก อี โอ๊ก โอก อี โอ๊ก โอก โอ๊ก อี
เอก เอ้ก อี เอ๊ก เอก อี เอก เอก เอ๊ก อี
ยามเย็นเยื้องย่างมา
สองแววตามองหาคู่ใจ
เดินโดดเดี่ยวไป
สุดเหงาใจจริงนะไก่เอย

8. เพลงเที่ยวท้องนา
ดูซิดู เห็นนกเอี้ยงยืนอยู่บนหลังควาย
มอง มองไปแนะกบกระโดดจะกินแมลง
ฝนตกน้ำนองเจิ่งนา ฝูงปลาพากันแหวกว่าย
ฝูงเป็ดพากันไซร้ ปีกขนหางอยู่กลางทุ่งนา

9. เพลงวน วน วน
วน วน วน พวกเราวนหมุนรอบตัวไป(ซ้ำ)
จับมือ จับแขน จับไหล่(ซ้ำ)
มาจับหัวใจ อุ๊นงง อุ๊ยงง
วน วน วน พวกเราวนหมุนรอบตัวไป(ซ้ำ)
จับเอว จับแขน จับเข่า(ซ้ำ)
มาจับหัวเรา อุ๊ยงง อุ๊ยงง

จงทำดี คำนี้ซิควรจงจำ
จงฟังคำคำนี้ซิจงทำดี
อย่ามัวช้า มามะมาทำความดี
จงทำดี จงทำดี และจงทำดี
10. เพลงจงทำดี

วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

เพลงสำหรับเด็กปฐมวัย

1. เพลงมาเล่นน้ำ
มาพวกเรามา มาเล่นน้ำเร็วไว
ไวพวกเราไว หอยปู กุ้ง ปลา
เราเป็นสัตว์น้ำอยู่ในน้ำทุกเวลา

2. เพลงเจ้าลา
เจ้าลาเดินไปกินหญ้า
ร้องเพลงช่างแสนไพเราะ
ถ้าไม่ให้มันกิน...หญ้า
มันจะว่าดังนี้ คิก คอก ..ๆ..ๆ..ๆ..ๆ

3. เพลงคุณครูที่รัก
สวัสดีคุณครูที่รัก หนูจะตั้งใจอ่านขียน
ยามเช้าจะมาโรงเรียน (ซ้ำ) หนูจะพากเพียรขยัน
เรียนเอย(ซ้ำ)

4. เพลงอาบน้ำซู่ซ่า
อาบน้ำซู่ซ่า ล้างหน้า ล้างตา
ฟอกสบู่ถูตัว ชำระเหงื่อไคล
อาบน้ำให้ทั่ว เสร็จแล้วเช็ดตัว
อย่าได้ขุ่นมัว สุขกายสบายใจ

5. เพลงจับมือกัน
จงจับมือเดินข้าไป แล้วกลับออกมาช้าใย
จงจับมือเข้าวงใน เร็ว เร็ว ไว ไว
ไม่ต้องรอรี ดอกเอย..ดอกเอย..ดอกเอย
ดอกเอยโอ้เจ้าดอกจำปี เรามีเกลอดี (ซ้ำ)
จะทุกข์ร้อนไปใย

6. เพลงบ้านของฉันน่าอยู่
บ้านของฉันน่าอยู่
ช่างหน้าดูพื้นสะอาดเป็นมัน
ตู้เตียงนอนและอุปกรณ์ครบครัน(ซ้ำ)
พ่อแม่ของฉันอุตส่าห์สร้างมา
ฉันเป็นสุขทุกวัน ไม่เกียจคร้าน
คอยปรุงแต่งงามตา
หมั่นดูแลทั้งพ่อและแม่ของฉัน
ให้บ้านฉันนั้นเป็นวิมานโสภา

7. เพลงข้าวเอย ข้าวสุก
ข้าวเอย ข้าวสุก
ต้องกินทุกบ้านทุกฐานถิ่น
กว่าจะได้ข้าวมาให้เรากิน
ชาวนาสิ้นกำลังเกือบทั้งปี
ต้องทนแดดฝนทนลมหนาว
กว่าจะได้ข้าวมาถึงที่
คนกินข้าวจำไว้ให้ดี
ชาวนานั้นมีบุญคุณแก่เรา

8. เพลงขอบคุณ ขอบใจ
เมื่อผู้ใหญ่ใจดีให้ของ
หนูหนู ควรต้องนึกถึงพระคุณ
น้อมไหว้กล่าวคำขอบพระคุณ
เพื่อนมีใจเผื่อแผ่การุณ
นึกถึงบุญคุณกล่าวคำขอบใจ

9. เพลงไปเที่ยวกัน
พวกเราจะไปรถไฟ พวกเราจะไปรถยนต์
พวกเราจะไปไอพ่น พวกเราทุกคน
จะไปไอพ่น จะไปรถยนต์ จะไปรถไฟ
ชึ๊ก ชั่ก ชึ๊ก ชั่ก
ปิ๊น ปิ๊น ปิ๊น ปิ๊น
บื้น บัน บื้น บื้น

10. เพลงตื่นเช้า
หนูเล็กเด็กเด็กทั้งหลาย
อย่านอนตื่นสายเป็นเด็กเกียจคร้าน
ตื่นเช้าจะได้เบิกบาน
สดชื่นสำราญสมองแจ่มใส
อาบน้ำ ล้างหน้าสีฟัน
รีบเร่งเร็วพลันแต่งตัวทันใด
รับประทานอาหารเร็วไว
เสร็จแล้วจะได้รีบไปโรงเรียน