วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ศิลปะสำหรับเด็ก



การเริ่มต้นให้เด็กๆ เรียนรู้ศิลปะและงานประดิษฐ์ จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการมีความเข้าใจในธรรมชาติรอบตัว ทำให้จิตใจเยือกเย็นมีสมาธิและลดความขัดแย้งกับปัญหารอบข้างได้ดี พ่อเล่าให้ฟังว่าตอนเด็กๆ เป็นคนชอบการ์ตูนเพราะดูเข้าใจง่าย ดูตลกมีรูปร่างแปลกๆ แตกต่างกัน แต่งตัวก็สวยงาม พระเอกเก่ง และนางเอกใจดี (ที่เกลียดมากก็นางแม่มดและผู้ร้ายใจยักษ์)

โตขึ้นหน่อยพ่อก็จะชอบขีดๆ เขียนๆ วาดรูประบายสี หรือนึกสนุกขึ้นมาก็จะปั้นดินเหนียวเป็นรูปคนบ้าง หมาบ้าง แมวบ้าง เพราะเป็นสิ่งใกล้ตัวเห็นอยู่ทุกวัน พอเรียนอยู่ประถมปลายพ่อบอกว่าชอบวิชาวาดเขียนมาก เช่าหนังสือการ์ตูนอ่านเป็นประจำ ทั้งการ์ตูนไทยและฝรั่ง แล้วเอาแบบจากการ์ตูนมาวาดตาม

วาดในสมุดบ้างวาดตามผนังวัดบ้าง ตัวไหนฮิตมากหน่อย ก็จะใช้หมึกอินเดียอิ้งค์วาดลงบนเสื้อยืด ที่หน้าอกบ้าง กลางหลังบ้าง ( เดินอวดเพื่อนๆ เท่ห์อย่าบอกใคร)

ช่วงอยู่มัธยมพ่อบอกว่ารักวิชาศิลปะเป็นชีวิตจิตใจ งานศิลปหัตถกรรมคะแนนจะเกือบเต็ม ทั้งวิชาวาดเขียน ปั้นและงานประดิษฐ์ พอจบมัธยมพ่ออยากไปเรียนต่อที่เพาะช่าง แต่คุณย่าไม่ชอบกลับให้ไปเรียนพาณิชย์เป็นหนังคนละเรื่องกันเลย สุดท้ายมาเรียนช่างนัยว่าจบแล้วได้ตังค์ ทำงานวิศวกรประดิษฐ์สิ่งต่างๆ (พ่อชอบจินตนาการ คงติดมาจากอ่านการ์ตูน ชอบสิ่งลึกลับมหัศจรรย์ คิดว่ามันคงเหมือนไสยศาสตร์ เหาะเหินเดินอากาศส่งโทรจิตถึงกันได้ อะไรเทือกนั้นมั๊ง..)

เล่ามาตั้งนานพ่อบอกว่าเพื่อเป็นตัวอย่างสร้างความเข้าใจให้คุณพ่อคุณ คุณแม่ ปู ย่า ตา ยาย ทั้งหลายรู้ว่าเด็กทุกคนเขามีจินตนาการ มีความฝังใจและต้องการเรียนรู้ตามความถนัดของเขาเอง บางครั้งเราไปบังคับมากไปก็ไม่ได้ ต้องประชาธิปไตย เริ่มจากการปูแนวทางให้เขาตั้งแต่เล็กๆ แล้วสังเกตความถนัด ดูแววดาราที่พวกเขาแสดงออกมา ปิ๊งเมื่อไหร่ก็ส่งเสริมเขาให้เต็มที่ (ตามอัตภาพและทุนทรัพย์ที่หาได้)

จากประสบการณ์ของพ่อเอง บอกว่าการเริ่มต้นให้เด็กๆ เรียนรู้ศิลปะและงานประดิษฐ์ จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ มีความเข้าใจในธรรมชาติรอบตัว ทำให้จิตใจเยือกเย็น มีสมาธิ (แก้นิสัยใจร้อน โมโหง่ายได้มาก)

การสอนศิลปะสำหรับเด็กมีหลายแขนงทั้งวาดรูป ระบายสี และปั้นขึ้นรูป การประดิษฐ์และงานฝีมืออื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนเปิดสอนศิลปะสำหรับเด็กแพร่หลาย แบ่งเป็นคอร์สสั้นๆ เช่น

การวาด หรือ DRAWING
เรียนวาดรูป ใช้ดินสอ ปากกา ลากเส้นตรง เส้นโค้ง วงกลม และสิ่งต่างๆ รอบตัว ได้รู้จักกับรูปร่าง Shape และรูปทรง Form ต่างๆ เพื่อเป็นพื้นฐานในการวาด

การระบายสี หรือ PAINTING
เรียนการใช้สีต่างๆ เช่น สีไม้ สีเทียน สีเมจิก หรือสีชอลค์ และใช้พู่กัน ระบายสีน้ำ สีโปสเตอร์ การ ผสมสี และเท็คนิคต่างๆ ให้เกิดความสวยงาม

งานปั้นขึ้นรูป หรือ SCULPTURE
เรียนรู้การปั้น เริ่มจากแบบง่ายๆ โดยใช้ดินน้ำมันที่มีสีสันต่างๆ จะเรียนรู้เทคนิคการปั้นแบบนูนต่ำ แบบ นูนสูงและลอยตัว เพื่อฝึกกล้ามเนื้อมือ กด นวด ปั้นแต่ง เป็นงานประติมากรรมแบบต่างๆ

ประติมากรรมกระดาษ หรือ PAPER MACHE
เรียนรู้การนำกระดาษ มาฉีก ตัด ปะ ม้วน พับขยำ เช่นกระดาษสี กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษทิชชู่ หนังสือแมกกาซีนและกระดาษกล่อง นำมาสร้างสรรค์ให้เกิดงานศิลปะต่างๆ เช่น ตุ๊กตากระดาษ และ หมูออมสิน

การพิมพ์ภาพ หรือ PRINT MAKING
เรียนรู้วิธีพิมพ์ภาพจากวัสดุต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วไปและวัสดุที่มีอยู่ในธรรมชาติ เช่น ใบไม้ ดอกไม้ ก้าน กล้วย ที่มีลายแตกต่างกัน เป็นการเรียนรู้ วิธีการ และเทคนิคต่างๆ สร้างภาพที่แตกต่างกันไป

การประดิษฐ์สร้างสรรค์ หรือ CREATIVE CRAFTS
เรียนรู้การนำเอาสิ่งต่างๆ รอบตัว มาประดิษฐ์ จัดแต่งเข้าด้วยกัน เช่น กล่องกระดาษ กระป๋องนม หลอดด้าย ไม้ไอติม เศษผ้าริบบิ้นและลูกปัดสีต่างๆ ทำให้เกิดประสบการณ์เกิดความคิดสร้างสรรค์นำ
ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

ประโยชน์ของการส่งเสริมเด็กทางด้านศิลปะ
เป็นการฝึกทักษะทางด้านศิลปะให้ดีขึ้น ให้เด็กกล้าคิดกล้าแสดงออกอย่างอิสระ รู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้มีสมาธิในการเรียนที่ดีขึ้น และยังมีผลถึงพัฒนาการด้านอื่นๆ ทั้งหมด การที่เด็กได้ทำมากฝึกฝนมาก จะยิ่งช่วยให้เด็กเกิดความชำนาญมากขึ้นอีกด้วย ถือเป็นการสั่งสมประสบการณ์อันมีค่ายิ่งของเด็ก หากเด็กได้รับการสนับสนุนให้สร้างสรรค์ศิลปะอย่างต่อเนื่อง ก็เท่ากับว่าเป็นทางหนึ่งซึ่งสั่งสมความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นกับเด็กอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

เพราะศิลปะมีกระบวนการและธรรมชาติ ที่เอื้อแก่การพัฒนาทางสมอง เพื่อเพิ่มพูนความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด ยิ่งเด็กฝึกฝนมากเท่าไรสติปัญญาของเด็กก็จะเติบโตมากเท่านั้น และหากการได้คิดมากๆ คือการทำให้สมองแหลมคม การที่เด็กได้ขีดเส้นลงไปแต่ละเส้นหรือระบายสีก็ล้วนมีผลทำให้สมองได้ทำงานอย่างต่อเนื่องทั้งสิ้น



ข้อมูลอ้างอิง : art-for-ent.com
ภาพจากอินเตอร์เน็ต

วันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เพลงสำหรับเด็กปฐมวัย


1.เพลง สวัสดี
ลั่น ลัน ลา .. ลันล้าลันล้าลา (ซ้ำ4 ครั้ง)
สวัสดีวันนี้มาพบเธอ ได้มาเจอพบเธอให้ชื่น
ใจ ร่วมสุขสันต์สัมพันธ์ในดวงใจ
สุข ฤทัยพวกเราอนุบาล ลั่น ลัน ลา .. ลันล้าลัน
ลันลา (ซ้ำ)

2. เพลง สวัสดี
สวัสดี สวัสดี สวัสดี
วันนี้เรามาพบกัน
เธอและฉันพบกันแล้วสวัสดี

3. โอ้เพื่อนรัก
โอ้เพื่อนรักเรามาพบกัน
สวัสดี สวัสดี
สบายหรือ สบายดี เรายินดีที่ได้พบกัน
ลัน ลัน ลา ลันลันลา
ลัน ลัน ลา ลันลา ลันลา

4. เพลงมาตบมือ
มาตบมือ มาตบมือ แล้วเดินรอบๆตัวไป ตบ
ตบ ตบให้สนุกสุขสันต์ ตบมือสร้างไมตรี
5. เพลงลูกช้างกับลูกไก่
ลูกช้างทำไมถึงตัวใหญ่ ลูกไก่ทำไมถึงตัวเล็ก (ซ้ำ)
คิด คิดไม่ออกซักที คิดไม่ออกซักที
แล้วก็คิดออก (ซ้ำ)
ลันลา ลันลา ลันลา ลา (ซ้ำ )

6. เพลงผีเสื้อแสนงาม (ไก่แจ้ )
ผีเสื้อเอย แสนงาม
บินดมตอม มวลดอกไม้
เขียว เหลือง เพลินดูช่างสุขใจ
ช่างสดใส สีส้ม สี แดง หน่อย นอย ..............

7. เพลงร่วมร้องเพลง
มาเถิดเรามา ร่วมร้องเพลงกัน พวกเราทั้งนั้นมา
ตบมือ ......ที
เจอกันเราก็ยิ้มให้กัน จับมือไขว้กัน ตบมือ 10 ที

8. เพลงสงสารแม่ปลาบู่
สงสารแต่แม่ปลาบู่ อาศัยอยู่ในฝั่งคงคา
นางเอื้อยเป็นลูกกรำพร้า ถึงเวลามาร่อนรำ

9. เพลงสัญญาณกระดิ่ง
กริ๊ง กริ๊ง กริ๊ง
เสียงกระดิ่งให้สัญญาณ
เด็กเด็กพาเตรียมตัวเข้าโรงเรียน
หนูต้องเข้าแถวก่อน
อย่ารีบร้อนเข้าห้องเรียน
แล้วหนูจะหัดอ่านเขียน
หนูรักโรงเรียนจริงเอย

10. เพลงคิ้ว ตา ปาก แก้ม
นี่คิ้ว นี่ตา นี่ปาก นี่แก้ม( ซ้ำ )
เรามายิ้มแย้ม (ซ้า )
นี่แก้ม นี่ตา นี่ปาก นี่คิ้ว (ซ้ำ)

11. เพลง ก.ไก่ไว้ที่แก้ม
ก.ไก่ เอาไว้ที่แก้ม ป.ปลาเอาไว้ที่ปาก
ต.เต่าเอาไว้ที่ตา แล้วเอาม.ม้าไว้ที่จมูก
สร้อย ล้า ลา ล้า ลา ล้า ลา
ลา ล้า ลา ล้า ลา
ล่า ลา ลา ล้า ลา
ล.ลิง เอาไว้ที่ไหล่ ข.ไข่ เอาไว้ที่แขน
ร.รัก ของเราขาดแคลน แล้วเอา ฟ. แฟนไว้ใน
ดวงใจ (สร้อย)

12.เพลง นกนางนวล
แหงนมองดูฟ้า ก้มหน้ามองดิน
นกนางนวลโผบิน บินกลับสู่รัง
บินไปทางซ้าย แล้วย้ายไปทางขวา
หมุนตัวไป มา บินทางขวาและซ้าย

13. เพลงกระต่ายน้อย
ฉันเป็นกระต่าย ตัวน้อย มีหางเดียว
สองหูยาว สั่นกระดุ่ก กระดุ่ก กระดิ้ก
กระโดดไปมาทำท่า กระดุ๊ก กระดิก
เพื่อนที่รัก...ของฉันนั้นคือเธอ...

14. เพลงโอ้เธอคนดี
โอ้เธอคนดี (ซ้ำ) บอกทีซิบ้านอยู่ไหน
บ้านฉันนั้นอยู่ไม่ไกล มันทำด้วยไม้ไม่ไกล
ดอกหนา ยู้ ฮู ฮู ลัน ลัน ลา ลัน ลา (ซ้ำ) ยู่ ฮู ฮู
ลันลาลาลันลา (ซ้ำ) ยู้ ฮู ฮู่

15. เพลงเราชวนกันบิน
เราชวนกันบิน (ซ้ำ) บินไปด้วยกัน
ต่างพากันบิน (ซ้ำ) บินไปด้วยกัน
เกาะลงตรงหน้านกตัวหนึ่ง...
ต่างพากันออกไปร้องเพลง

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

พ่อแม่ กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตลูก

พ่อแม่ที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงดูลูก มีวิธีการอย่างไร ให้ความรักอย่างเพียงพอ

ความรักความสนใจที่จริงใจก่อให้เกิดความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจ
เด็กได้รับรู้และรู้สึกว่าตนเป็นที่รัก ย่อมอยากแสดงความดีให้พ่อแม่เห็น เป็นการตอบแทน
ให้ความรักอย่างสม่ำเสมอและปราศจากเงื่อนไขในทุกโอกาส
ฝึกวินัยให้ลูกด้วยความรัก เด็กจะพัฒนาวินัยของตนเองได้เมื่อ

มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น
รู้ว่าอะไรถูก-อะไรผิด
มีทางเลือกในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่อสถานการณ์ต่างๆ
พ่อแม่ช่วยส่งเสริมปัจจัยทั้ง 3 ประการนี้ได้โดย

พ่อแม่มีความสม่ำเสมอ อดทน และควบคุมอารมณ์ตนเองได้
สื่อความหมายกับลูกให้ชัดเจน ปากกับใจตรงกัน
ทำความเข้าใจพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของเด็กว่ามีความหมายอย่างไร ทำไปเพื่ออะไร เพื่อใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ให้ความมั่นใจ ใส่ใจพฤติกรรมที่ถูกต้อง มากกว่าการจับจ้องพฤติกรรมที่ พ่อแม่ยังไม่พอใจ
ชมเชยสิ่งที่ดีของเขา
สร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในบ้านให้สามารถเล่นรื้อค้นได้อย่างปลอดภัย
ตั้งกฏเกณฑ์ที่เข้าใจง่าย บอกให้รู้ว่าอะไรที่พ่อแม่ต้องการให้ทำ และอะไรที่ ไม่ต้องการให้ทำ
สถานการณ์บางขณะในบ้าน เช่น พี่น้องทะเลาะกัน อาจนำไปสู่การเกิดอารมณ์รุนแรง พ่อแม่ต้องรีบตัดไฟแต่ต้นลม รู้จังหวะที่จะเข้าไปจัดการอย่างเหมาะสม
มีเวลาให้กับครอบครัว

พ่อแม่ควรมีเวลาเล่นกับลูก โดยเน้นความสนุกสนาน และสร้างสัมพันธ์ที่ดี มากกว่าการควบคุม สั่งสอน หรือการเรียน
สนใจและให้ความสำคัญต่อคู่สมรสของตนเอง

พ่อแม่ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันก่อน เพราะความรัก ความนับถือ
ความศรัทธาของพ่อแม่จะก่อให้เกิดความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจภายในครอบครัว
สอนทักษะในการแก้ปัญหาที่ถูกต้องให้แก่เด็ก

อธิบายให้เด็กเข้าใจว่า วิธีการแก้ปัญหาที่เขาใช้ไปแล้วนั้น ไม่เหมาะสมอย่างไรบ้าง และแนะวิธีที่เหมาะสมกว่า เพื่อว่าเขาจะใด้นำไปใช้ในคราวหน้า
สำหรับเด็กเล็กให้แนะนำตรง ๆ ว่าถ้าพบปัญหานี้ควรทำอย่างไร
สำหรับเด็กโตที่รู้จักคิดเองได้ พ่อแม่อาจตั้งคำถามให้เด็กคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร แล้วจึงเสนอวิธีการต่าง ๆ เพิ่มเติมให้
พัฒนาความเคารพนัถือซึ่งกันและกัน พ่อแม่ควรทำตัวให้เป็นที่เคารพนับถือของลูก เช่น

แสดงกิริยาวาจาสุภาพกับลูก
รู้จักขอโทษเมื่อพ่อแม่เป็นฝ่ายผิด
สนใจกิจกรรมที่ลูกทำด้วยความจริงใจ
แสดงความซื่อสัตย์ รักษาสัญญาให้ลูกเห็น
แสดงความไว้วางใจรับฟังการตัดสินใจของลูก
ไม่แสดงความชื่นชมหรือเข้าข้างลูกคนใดเป็นพิเศษ
ตั้งใจรับฟังลูกอย่างจริงจัง จริงใจ

พ่อแม่ที่ "ได้ยิน" ลูก จะรับรู้และเข้าใจว่าลูกกำลังจะบอกอะไร
สนับสนุนให้แสดงความรู้สึกที่ดีและไม่ดีออกมาได้
ให้คำแนะนำเชิงเสนอแนะ

ใช้คำพูดสั้นๆ ได้ใจความ ดีกว่าการอธิบายหรือเทศนายืดยาว
เปิดโอกาสให้คิดด้วยตนเองก่อน แล้วจึงเสนอแนะวิธีการของพ่อแม่ภายหลัง
กระตุ้นให้ลูกเป็นอิสระทีละน้อย

เด็กเล็กควรมีเสรีภาพ และรู้จักเลือกตัดสินใจในเรื่องเล็กน้อย
เมื่อโตขึ้นก็ค่อยขยายให้รู้เรื่องที่ใหญ่ขึ้นตามลำดับ
ตั้งความหวังให้อยู่ในโลกของความเป็นจริง มีผู้กล่าวไว้ว่า
"อย่าหวังว่าทุกอย่างจะดำเนินไปด้วยดีตลอดเวลา
การเลี้ยงลูกมิใช่เป็นงานที่ง่ายเหมือนปลอกกล้วย
มันเป็นงานที่เต็มไปด้วยความระทมทุกข์และเจ็บปวดหัวใจ
แต่มันก็เต็มไปด้วยความสุขอย่างท่วมท้น และคุ้มค่าเช่นกัน"

พ่อแม่ทุกคนล้วนคาดหวังความสำเร็จของการเลี้ยงดูลูกของตนทั้งสิ้น แต่ความคาดหวังต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง

วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

อาหารเสริมสำหรับเด็ก

การให้อาหารเสริมนั้น เรามีจุดมุ่งหมายที่ชดเชยพลังงาน และสารอาหารที่จำเป็น ที่อาจจะพร่องไป และเพื่อให้เด็กได้คุ้นเคยกับอาหาร ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปให้เหมาะสมตามวัย อันจะเป็นการฝึกให้เด็กมีนิสัยการกินที่ดีและถูกต้องด้วย สำหรับอาหารเสริมในเด็กภายในอายุ 1 ปีนั้น จะมีดังต่อไปนี้ คือ เมื่อเด็กอายุครบ 3 เดือนแล้ว ควรเริ่มหัดให้เขากินข้าวบดใส่น้ำแกงจืด ผลัดเปลี่ยนกับกล้วยสุกครูด เด็กอายุครบ 4 เดือนให้ข้าวบดกับไข่แดงต้มสุกหรือข้าวบดกับตับ หรือสลับกับถั่วต้มเปื่อยก็ได้ เมื่ออายุครบ 5 เดือน ก็ควรจะเริ่มสลับด้วยเนื้อปลา และก็ควรจะเติมด้วยฟักทอง หรือผักบดเข้าไปด้วย เมื่ออายุครบ 6 เดือน อาหารดังกล่าวนี้ ก็จะกลายเป็นอาหารมื้อหลัก 1 มื้อ และให้กล้วยหรือมะละกอสุกเป็นอาหารว่างอีก 1 มื้อ ส่วนนมแม่ก็ควรจะลดลงเหลือวันละ 4 มื้อ เมื่ออายุครบ 7 เดือนแล้ว เราสามารถเริ่มเนื้อสัตว์อื่น บดผสมข้าว หรืออาจจะสลับกับตับและปลาได้ และในระยะนี้ เราก็อาจจะให้ไข่ได้ทั้งฟอง ทั้งไข่ขาวไข่แดง เมื่ออายุครบ 8-9 เดือน อาหารหลักก็จะเป็น 2 มื้อแล้ว ทำให้นมลดลง เหลือประมาณ 3 มื้อ อายุครบ 10-12 เดือน อาหารมื้อหลักก็จะเพิ่มเป็น 3 มื้อโดยส่วนนมนั้น ก็จะลดลงเหลือเพียง 2 มื้อ นั่นก็เป็นเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และก็อาหารเสริม ตามวัยที่เหมาะสม สำหรับที่จะเลี้ยงลูกท่านผู้ฟังให้มีการเจริญเติบโต มีสุขภาพแข็งแรง มีทั้งร่างกายและสมอง และสุขภาพจิตที่ดีด้วย
    
            แม้อาหารจะเป็นส่วนสำคัญในการเลี้ยงดูเด็กก็จริง แต่ก็ยังมีสิ่งอื่นอีก ที่มีความสำคัญไม่น้อย และที่จะช่วยเกื้อหนุนให้เด็กของเราเจริญเติบโตได้ดี สิ่งถัดไปในการเลี้ยงดูเด็กที่ควรกระทำก็คือ การพาเด็กไปรับการตรวจสุขภาพจากแพทย์ และรับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ ตามกำหนดที่แพทย์นัด ทั้งนี้เพื่อป้องกันการติดโรค ที่สามารถจะป้องกันไว้ก่อนได้ และเมื่อเด็กเจริญเติบโตขึ้น ความอบอุ่นจากพ่อแม่ทางบ้าน ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพจิตของเด็กด้วย และเมื่อถึงวัยอันควรก็ส่งเด็กเข้าโรงเรียน เพื่อศึกษาหาความรู้และอบรมสั่งสอนให้มีระเบียบวินัยและเป็นคนดี แต่ไม่ควรเร่งให้เด็กเข้าโรงเรียน ก่อนที่เด็กจะพร้อม นอกจากนี้การออกกำลังกาย หรือพลศึกษา ก็เป็นสิ่งสำคัญ สำหรับสุขภาพทางร่างกาย และจิตใจของเด็กด้วย ท่านผู้ฟังครับ การเคี่ยวเข็ญให้เด็กเรียนมากเกินไป โดยมีการพักผ่อนออกกำลังกายน้อยหรือไม่มีเลย จะมีผลเสียถึงสุขภาพทางร่างกายและจิตใจและเด็กอย่างมากด้วย ปัญหาเด็กเกเรหรือติดยาเสพติด ที่มีปัญหามากในปัจจุบัน อาจจะแก้ไขได้ทางหนึ่งโดยการจัดให้มีสนามเด็กเล่น และสนามกีฬากระจายไป ให้เพียงพอที่จะให้เด็กของเราใช้เวลาว่างในการออกกำลังกาย และเล่นกีฬาแทนที่จะไปมั่วสุมในที่อันไม่ควร ดังนั้น ถ้าจะเลี้ยงเด็กของท่าน ให้เจริญเติบโตดีต่อไปก็ควรจะให้อาหารดี ซึ่งได้แก่ นมแม่ และอาหารเสริมตามวัย พาไปตรวจสุขภาพและรับวัคซีนป้องกันโรคตามกำหนด ให้ความอบอุ่นทางจิตใจ ให้การศึกษา และให้ออกกำลังกายให้พอเหมาะ

โดย:รศ.นพ.วีระพงษ์ ฉัตรานนท์

วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วิธีเสริมสร้างความภูมิใจในตนเอง (Self-esteem) ให้กับลูกของคุณ

ความภูมิใจในตนเอง (Self-esteem) เป็นสิ่งสำคัญ ที่มีอิทธิพล ต่อแนวคิด ในการ ดำเนินชีวิต แต่คุณรู้ไหมว่า ความภูมิใจในตนเอง เป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ สร้างสมมา ตั้งแต่เด็ก เด็กที่มีความภูมิใจในตนเอง รู้ในคุณค่าของตนเองจะเป็น เด็กที่มี ความมั่นใจ สามารถแก้ปัญหา ปรับตัว หรือ อดทนต่อ ความกดดัน ความเครียด และข้อขัดแย้งในชีวิตได้ดี เขาสามารถยิ้ม ให้กับชีวิตได้ และ เป็นคนมองโลกในแง่ดี



ในทางกลับกัน เด็กที่ขาดความมั่นใจ และ ความภูมิใจในตนเอง มักจะเป็น คน วิตกกังวล เกิดความเครียด ต่อปัญหาต่างๆ ที่ผ่านมาในชีวิตได้ง่าย ไม่สามารถหา ทางแนวคิด ที่เหมาะสมต่อปัญหาต่างๆ เด็กเหล่านี้ มักมีความคิด เกี่ยวกับตัวเองว่า "เราเป็นคนไม่เก่ง" หรือ "เราไม่เคยทำอะไรถูกเลย" เด็กมักจะมีลักษณะเงียบๆ ไม่ค่อยมีเพื่อนฝูง หรืออาจจะเก็บกดได้

แล้วเราในฐานะพ่อ แม่ หรือ ผู้ปกครอง จะปลูกฝัง และ เสริมสร้างความมั่นใน และ ความภูมิใจให้กับเด็กๆ ของเราได้อย่างไร

ความภูมิใจในตนเอง (Self-esteem) คือ อะไร

ก่อนที่เรา จะเสริมสร้าง ความภูมิใจในตนเอง ให้กับเด็ก เรามีรู้จักกับคำว่า ความภูมิใจ ในตนเอง กันก่อน คำจำกัดความของความภูมิใจในตนเอง ทางการแพทย์นั้น คือ "ความเชื่อ หรือ ความรู้สึก ที่มีต่อตัวเอง ซึ่งมีอิทธิพลต่อ พฤติกรรม เจตคติ และแรงจูงใจในการดำเนินชีวิต" เป็นสิ่งที่น่าสนใจว่า การจะก่อให้เกิด ความภูมิใจ ในตนเองนั้น จะต้องสะสม ความรู้สึก ทีละเล็ก ทีละน้อยตั้งแต่เด็ก เราไม่สามารถ สร้างความรู้สึก ได้ในเวลาอันรวดเร็ว

การสะสม ความรู้สึกต่อตัวเองนั้น เริ่มตั้งแต่ อายุขวบปีแรก เด็กจะเริ่มสะสม ความรู้สึกว่า "ตัวเองทำได้" โดยที่เขาไม่รู้ตัว เช่น การที่เขาสามารถ พลิกตัวนอน คว่ำได้ หลังจากที่ พยายามมาเป็นสิบสิบครั้ง หรือ การที่เขาสามารถ บังคับช้อน ตักอาหารเข้าปาก ได้ด้วย ตนเองทุกครั้งที่กินอาหาร พฤติกรรมเหล่านี้ จะเป็น ตัวสอนให้เขามีความรู้สึกว่า เขาประสบความสำเร็จ และสอนตัวเองว่า "เราทำได้ ถ้าเราพยายาม" จากนั้น เขาจะเริ่มพัฒนา จริงจังเมื่ออายุ 3-4 ปี เขาจะเริ่มรับรู้ ถึงความรู้สึกชนิดต่างๆ สำรวจ ความคิดนั้น และสะสมความคิดจนได้ข้อสรุป ตกผลึก ออกมาเป็นความรู้สึกโดยรวม ต่อตนเอง แต่ในความเป็นจริง

เมื่อเด็กพยายามทำสิ่งหนึ่ง แล้วทำไม่ได้ พยายามใหม่ ทำไม่ได้ พยายาม ต่อไป เรื่อยๆ จนทำได้ในที่สุด จะเป็นการก่อกำเนิดความคิดต่อตนเอง และ รู้ถึงความ สามารถของตัวเอง นอกจากการเรียนรู้ จากการกระทำของตนเองแล้ว เด็กก็จะเรียนรู้ ความภูมิใจในตนเอง จากคนรอบข้างด้วย ด้วยเหตุนี้ พ่อแม่ และ ผู้ปกครอง จึงมี อิทธิพลต่อการ พัฒนาความภูมิใจในตนเองของเด็ก

ความภูมิใจในตนเอง จะต้องเกิดควบคู่ไปกับความรัก จะมีเพียงอย่างหนึ่ง อย่างใดไม่ได้ เด็กที่มีความภูมิใจในตนเอง สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ประสบ ความสำเร็จ แต่ขาด ความรัก ในที่สุดเขาก็จะหมดความภูมิใจในตัวเอง ส่วนเด็ก ที่ได้รับความรัก แต่ไม่ภูมิใจในตนเอง ทำอะไรไม่ค่อย ประสบ ความสำเร็จ ก็จะ ไม่รักตัวเอง ดังนั้น ความภูมิใจ และ ความรักจึงต้องมีอยู่ด้วยกันอย่างสมดุล

เปรียบเทียบลักษณะของ เด็กที่มีความภูมิใจในตนเอง กับ เด็กที่ขาดความภูมิใจในตนเอง

การสะสมความภูมิใจในตนเอง จะเริ่มสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเด็กโตขึ้น โดยขึ้น กับสถานะการณ์รอบข้าง และสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ความรู้สึก ภูมิใจจะมีช่วงๆ ภูมิใจมาก ภูมิใจน้อย เปลี่ยนแปลงไปมา พ่อแม่ และ ผู้ปกครอง จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ ที่จะสังเกต ลักษณะของเด็กว่า ช่วงไหนเขาเป็นอย่างไร เขามีความภูมิใจในตนเอง และมีความรู้สึกต่อตัวเอง อยู่ในระดับใด

เด็กที่ขาดความภูมิใจในตนเอง จะไม่ชอบเรียนรู้ หรือ ทดลอง ประสบการณ์ ใหม่ๆ เขามักจะพูดเกี่ยวกับตัวเองในทางลบ เช่น เราเป็นคนไม่เก่ง เราเป็นคน ไม่ฉลาด เราไม่สามารถทำสิ่งนี้ได้ ไม่มีใครมาสนใจเรา ฯลฯ เด็กจะมีความ อดทนต่อความกดดันน้อย ไม่มีความพยายาม ยอมแพ้ได้ง่าย หรือมักชอบ ให้คนอื่นมาทำ แทนตนเอง

ส่วนเด็กที่มีความภูมิใจในตนเอง จะมีความรู้สึกมั่นใจ ชอบพบปะผู้คน มีความสุข ที่จะได้ร่วมกิจกรรมกลุ่มกับเพื่อนๆ หรือผู้ใหญ่ ในขณะเดียวกันเขา ก็สามารถอยู่ คนเดียวได้ โดยที่ไม่มีความรู้สึกว่าต้องพึ่งพา เช่น สามารถกิน อาหารคนเดียวได้ เป็นต้น เด็กจะชอบทดลอง ค้นหาสิ่งใหม่ๆที่เขาสนใจ เมื่อมีความท้าทายเข้ามา เขาจะคิดหาทางแก้ปัญหา หรือทางออก ถ้าจะสังเกต คำพูดบางคำ ก็จะรู้ถึงความมั่นใจ ในตนเอง เช่น แทนที่เขาจะพูดว่าฉันทำไม่ได้ ก็จะพูดว่าฉันจะหาทางอย่างไร เพื่อที่ จะทำให้ได้ เขาจะรู้ถึงจุดเด่น และ จุดด้อย ของตนเอง และยอมรับมันได้

บทบาทขอบพ่อแม่และผู้ปกครอง จะช่วยได้อย่างไร มีข้อแนะนำดังนี้

พูดให้กำลังใจเด็กอย่างสร้างสรรค์
เด็กๆ นั้นมักจะมีความรู้สึกอ่อนไหวได้ง่าย ต่อคำพูดของพ่อแม่ คุณต้องพูดจา ชมเชยลูกไม่เพียงแต่เมื่อลูก ประสบความสำเร็จ แต่ควรจะพูดส่งชมเชยลูกด้วย เมื่อลูก ได้ใช้ความพยายามของตนเอง (แต่ไม่ประสบความสำเร็จ) ยกตัวอย่างเช่น เมื่อลูกแข่งกีฬาแต่ไม่ชนะ พยายามเลี่ยงคำพูดว่า "คราวหน้าซ้อมให้หนักขึ้นนะลูก" แต่ควรจะพูดว่า "ถึงแม้ว่าลูกจะไม่ชนะ แต่แม่ก็ภูมิใจในความพยายามของลูก" เราควรพูดชมเชย ต่อความพยายามของลูก มากกว่า พูดถึงผลลัพธ์ที่ออกมา การพูด ชมเชยนั้น ต้องพูดออกมาจากใจ เด็กจะรับรู้ได้ว่า คุณพูดออกมาจากใจ หรือ พูดเกินจริง

ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็ก
ถ้าคุณเป็นคนเกรี้ยวกราด เจ้าอารมณ์ มองโลกในแง่ร้าย หรือ ขาดความภูมิใจ ในตนเอง เด็กก็จะเลียนแบบพฤติกรรมของคุณ อย่างแน่นอน ดังนั้น คุณจะต้องสำรวจ ตนเองว่า คุณเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกๆของคุณหรือไม่

สังเกตและแก้ไขความรู้สึกที่ผิดๆของเด็ก
เป็นบทบาทสำคัญของพ่อแม่ และ ผู้ปกครองที่จะสังเกตว่า เด็ก หรือลูกๆ ของคุณ มีความรู้สึกต่อตนเองเป็นอย่างไร ความรู้สึกที่ผิดๆ บางอย่าง ถ้าไม่ได้รับ การแก้ไข ในทางที่เหมาะสมแล้ว อาจจะฝังลึก กลายเป็นความรู้สึกถาวรได้ เช่น ถ้าเด็กสามารถ เรียนที่โรงเรียนได้ดี ยกเว้นแต่วิชาคณิตศาสตร์ เด็กอาจจะพูดว่า "เขาไม่สามารถ คิดเลขได้ เขาเป็นเด็กโง่" ความรู้สึกเช่นนี้ ไม่เพียงแต่เป็นความคิดที่ผิด แต่อาจจะ เป็นการฝังราก ของความรู้สึกล้มเหลว และขาดความภูมิใจในตนเองได้ คุณจะต้องพูด กับเด็กให้เขารับรู้ ถึงแง่คิดในการมอง ที่ถูกต้อง การตอบสนองต่อสถานการณ์ ข้างต้น อาจจะเป็นว่า "ลูกสามารถเรียนวิชาอื่นๆ ที่โรงเรียนได้ดี เลขเป็นเพียงวิชาหนึ่ง เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงทั้งหมด ลูกไม่ได้เป็นเด็กไม่ฉลาด เพียงแต่ว่า ลูกต้องให้เวลา ทำการบ้านในวิชาเลข และ ทบทวนบทเรียนให้มากขึ้นเท่านั้น"

ให้ความรักให้พอเพียง
การให้ความรัก เป็นสิ่งที่สร้างความภูมิใจแก่ตนเองอย่างแน่นอน การกอด สัมผัส พูดชมเชย พูดว่าคุณภูมิใจในตัวเขา เป็นสิ่งที่ควรทำ แม้ว่ามันอาจจะ ไม่ได้เป็นวัฒนธรรมเดิมของคนไทยเราก็ตาม แต่เป็นสิ่งที่ดี ที่ควรทำโดย เฉพาะกับลูกๆของคุณ และอย่าลืมอย่างที่บอกเอาไว้ว่า ต้องทำออกมาจากหัวใจ อย่าทำเกินจริง เพราะเด็กสามารถรับรู้ได้

ให้การตอบสนองต่อพฤติกรรมอย่างถูกต้อง
การตอบสนองต่อ พฤติกรรมของลูกๆ จะเป็นตัวสะท้อน ถึงผลของการกระทำ ของเขา การตอบสนองที่ดี จะทำให้เขารับรู้ว่า การกระทำนั้นๆเป็นสิ่งที่ดี เช่น เมื่อลูกคุณไปทะเลาะกับเพื่อน แทนที่คุณจะบอกลูกว่า "ห้ามทะเลาะกับเพื่อนอีกนะลูก การทะเลาะเป็นนิสัยของเด็กเกเร" เด็กอาจจะ รู้สึกว่าเขาไม่ดี ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ คุณอาจจะพูดว่า "ลูกทะเลาะกับ เพื่อนมา แต่แม่ก็เห็นว่า ยังดีที่ลูกไม่ได้ลงมือ ลงไม้กัน" การพูดเช่นนี้ เหมือน เป็นการให้รางวัลแก่เด็ก ว่าเขาสามารถควบคุมตนเอง และ เลือกทางออก ที่เหมาะสมได้ และจะสามารถเลือกได้อีก เมื่อเกิดเหตุการณ์ซ้ำในคราวต่อไป

สร้างบรรยากาศที่ดีในบ้าน
เด็กที่รู้สึกว่า อยู่บ้านแล้วไม่มีความสุข หรือ รู้สึกไม่ปลอดภัย จะมีระดับ ความภูมิใจในตนเองต่ำ บ้านที่พ่อแม่ทะเลาะกันบ่อยๆ จะทำให้ลูกๆ เป็นเด็ก เก็บกด ดังนั้นคุณควรสร้างบรรยากาศในบ้านให้ดี ปรองดองกัน เมื่อมีข้อขัดแย้ง ในชีวิตคู่ ควรจะหาสถานที่ที่มิดชิดพูดคุยกัน ไม่ควรทะเลาะกันต่อหน้าเด็กๆ นอกจากนั้น คุณต้องสังเกตว่าลูกคุณ มีความสุขที่โรงเรียนด้วยหรือไม่ สังเกตว่า ตามแขนขา มีรอยฟกช้ำจากการโดนทำร้ายร่างกายหรือเปล่า

ส่งเสริมให้เด็กได้เข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างสรรค์
กิจกรรมที่เสริมสร้าง การทำงานเป็นทีม ทำงานร่วมกัน เพื่อประสบ ความสำเร็จ จะเป็นกิจกรรมที่ดี ในการสร้างความมั่นใจ และ ความภูมิใจ ในตนเอง เช่น กิจกรรมที่ให้พี่สอนน้องอ่านหนังสือ จะเป็นผลดีต่อ ความภูมิใจ ในตนเองทั้งสองฝ่าย เป็นต้น ส่วนกิจกรรมที่เน้นการแข่งขัน และ ผลลัพธ์ของ การแข่งขัน จะไม่ค่อยเป็นผลดีนัก เพราะจะทำให้เด็กเคร่งเครียดจนเกินไป

จากข้อแนะนำ ที่กล่าวมานี้คงจะเป็นแนวทางให้ คุณได้สังเกต และ เสริมสร้าง ความภูมิใจในตนเอง ให้กับลูกๆหรือเด็กๆของคุณ แต่ถ้าเกินความสามารถ ของ คุณในการแก้ไข คุณสามารถพาเด็กไปพบจิตแพทย์เด็ก จิตแพทย์ จะซักประวัติ เด็ก และ พ่อแม่ มีการทดสอบเพื่อให้ทราบว่า เด็กคิดอย่างไร และอะไร เป็น สาเหตุ ที่ทำให้เขามีความภูมิใจในตนเองต่ำ และ สามารถสร้างกิจกรรม ในการแก้ไขที่เหมาะสม ทำให้เด็กมองโลกในแง่ของความเป็นจริง มองโลก ในแง่ดี และรักตัวเอง

ผู้ปกครองหลายคนบอกว่าการเรียนเทควันโดสามารถเพิ่มความภูมิใจได้

วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการกินอาหารของเด็ก

ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับบางประการเกี่ยวกับการให้ลูกกินอาหาร



ให้เวลา ให้เวลาลูกหลายๆ วัน เพื่อให้ลูกเคยชินกับอาหารแต่ละอย่าง ก่อนที่จะลองให้ลูกกินอาหารชนิดอื่น
ด้วยวิธีนี้ จะทำให้คุณรู้ว่าอาหารชนิดไหนที่ไม่ทำให้ลูกท้องอืด หรือไม่ทำให้ลูกเกิดอาการแพ้

ใช้ลิ้นดุนอาหารออกจากปาก ลูกของคุณอาจมีปฏิกิริยาตอบสนองตามสัญชาตญาณ ทีทำให้ลูกดันอาหารออกจากปาก โดยทั่วไปแล้วปฏิกิริยาตอบสนองนี้ จะหายไปตอนที่ลูกมีอายุประมาณ 4 เดือน เด็กๆ อาจใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการเรียนรู้ ที่จะเก็บอาหารไว้ในปากก่อนที่จะกลืนลงไป

สังเกตปฏิกิริยาลูก คอยสังเกตปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับลูก เช่น ผื่นที่ผิวหนัง อาการท้องเสีย อาเจียน และหายใจมีเวียงหวีดในหลอดลม

อย่าให้อาหารมากเกินไป หยุดป้อนอาหารให้ลูก หากลูกเริ่มหันหน้าหนี ทำปากจู๋ ดุนลิ้นดันอาหารออกมาตลอดเวลา หรือดิ้นไปมา เพราะลูกอาจจะอิ่มแล้ว

กระตุ้นให้กิน กระตุ้นให้ลูกหัดกินอาหารเอง ลูกของคุณจะได้เรียนรู้การใช้ภาชนะและอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยตัวเข้าเอง ซึ่งเป็นการพัฒนาทักษะ และความเป็นอิสระของตัวลูกเอง ลูกของคุณอาจจะหยิบอาหารเข้าปากได้เอง ตอนที่อายุประมาณ 7-8 เดือน

จำกัดน้ำผลไม้ที่มีน้ำตาล ให้ลูกดื่มน้ำเปล่าก่อนเสมอ อย่าให้ลูกดื่มน้ำผลไม้ที่มีรสหลานมากจนเกินไป เช่น น้ำแอปเปิ้ล หลีกเลี่ยงน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ซางบางชนิดอาจเปรี้ยวจนเกินไป สำหรับลูกของคุณ น้ำผลไม้ส่วนมากมีเพียงน้ำตาลและวิตามินซี หากลูกดื่มน้ำผลไม้มากเกินไป ลูกอาจจะไม่อยากกินอาหารอื่นๆ ที่มีคุณค่า และจำเป็นต่อการเจริญเติบโต

หลีกเลี่ยงเครื่องปรุงรส อย่าเติมเกลือ น้ำตาล หรือเครื่องปรุงรสอื่นๆ ลงไป ในอาหารสำหรับลูก

ทำให้สนุก อย่าทำเพียงแค่ตักอาหารแล้วป้อนเข้าปากลูก เพราะลูกของคุณ อาจจะสำลัก หรืออาเจียนได้ คุณควรจะหาเกมส์สนุกๆ  มาเล่นเพื่อกระตุ้นให้ลูกอยากกินอาหาร เช่นทำท่าเป็นเครื่องบิน บินเข้าปากลูก หรือเป็นขบวนรถไฟวิ่งเข้าปาก เป็นต้น คุณควรอดทน และป้อนอาหารให้ลูกอย่างนุ่มนวล เพื่อให้ลูกมีความสุข และสนุกกับการรับประทานอาหาร

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย : อาหารบดละเอียดโดยคุณ จูลี บี.ลูกของฉันชอบแต่อาหารที่มีเนื้อเนียนละเอียดเท่านั้น ซึ่งฉันคิดว่าก็น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะลูกเคยชินกับน้ำนมอย่างเดียว ฉันเตรียมอาหารให้ลูกโดยบด หรือหนอย่างละเอียด ไม่ทำให้อาหารเป็นก้อน หลังจากนั้นระยะหนึ่ง ฉันก็เริ่มผสมอาหารที่เป็นชิ้นเล็กๆ ลงไปบ้าง แต่ลูกก็บ้วนออกทุกครั้ง ซึ่งฉันก็ไม่ละความพยายาม และในที่สุดลูกก็กินอาหารเป็นชิ้นได้

วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ใส่ใจ ห่วงใย พฤติกรรมเด็ก

พัฒนาการด้านบุคลิกภาพและพฤติกรรมเด็ก


เด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป จะเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น ช่างสงสัยและชอบเคลื่อนไหว วิ่งเล่นไปมาเสมอ ความอยากรู้อยากเห็นและจินตนาการกลายเป็นสิ่งสำคัญในวัยนี้ คุณอาจสังเกตได้ว่าลูกๆ เริ่มสำรวจสิ่งต่างๆ มากขึ้น และซักถามเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวมากกว่าเดิม การเริ่มมีความคิดริเริ่มหรือความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ของเด็กเริ่มมีพัฒนาการมากขึ้น โดยพวกเขาจะเริ่มค้นหาและอยากรู้เกี่ยวกับคนและสิ่งของต่างๆ เริ่มมีคำถามและสงสัยว่าอะไรคือเหตุ อะไรคือผล คำตอบหรือทางแก้ปัญหา และจะมีวิธีการใหม่ๆ ช่วงนี้ คุณอาจจะได้ยินคำถามว่า “ทำไม” บ่อยมากขึ้น ดังนั้นการให้ความสนใจ ใส่ใจ และให้คำชมเชยต่อพฤติกรรมที่เหมาะสมของการเรียนรู้ในการสำรวจ ตรวจสอบ สงสัยของพวกพวกเขา ก็จะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการด้านนี้เพิ่มขึ้นค่ะ

นอกจากนี้ เด็กวัยนี้ยังชอบเลียนแบบพฤติกรรมต่างๆ ของบุคคลอื่นๆ ในบ้านตามที่เขาเห็น เพราะฉะนั้นคุณแม่และสมาชิกอื่นๆ ควรเป็นตัวอย่างที่เหมาะสมเพื่อให้ลูกปฎิบัติตาม ปฎิกิริยาตอบรับและการตอบสนองที่ลูกมีต่อคุณหรือคนในครอบครัว รวมถึงสิ่งต่างๆ ภายนอกสามารถช่วยเสริมสร้างและพัฒนาบุคลิกภาพและแนวทางการคิดในแบบของลูกเองรวมถึงการเคลื่อนไหวด้วย

เด็กวัยนี้จะเริ่มเติบโตชึ้นอย่างมั่นคงและมั่นใจ พวกเขาจะเริ่มสนใจและสนุกกับการรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ การเรียนรู้เกี่ยวกับกฎต่างๆ และการมีส่วนร่วมกับสิ่งนั้นๆ การใช้ภาษาเริ่มมีพัฒนาการมากขึ้น และดีเพียงพอต่อการสนทนาอย่างเข้าใจ ความมั่นใจในตัวเองเริ่มมีมากขึ้น และสามารถพูดและนำเสนอความคิดต่างๆ ของตัวเองได้แล้ว และพวกเขาจะเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับการทำความรู้จักเพื่อนใหม่และรู้สึกสนุกในความสัมพันธ์ใหม่ๆ ที่ได้มาค่ะ

เด็กวัยนี้เริ่มเรียนรู้ผ่านการเล่นหรือกิจกรรมต่างๆ พวกเขาต้องการที่จะสำรวจ ทดสอบ และหาประสบการณ์จากสิ่งต่างๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้น หากคุณแม่และครอบครัวสามารถช่วยให้พวกเขามีโอกาสที่จะได้ทำสิ่งที่เขาต้องการ นอกจากจะช่วยพัฒนาการเจริญเติบโตและทักษะต่างๆ ของลูกแล้ว ยังช่วยสร้างความสุขและรอยยิ้มให้เกิดขึ้นในครอบครัวอีกด้วยค่ะ ดังนั้น การใส่ใจทุกรายละเอียดในสิ่งที่ลูกทำจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้แน่ใจว่าลูกเติบโตและใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพียงพอค่ะ
นอกจากนี้ คุณแม่อาจหาเวลาว่างสัปดาห์ละ 1 วันเพื่อสร้างกิจกรรมนอกบ้านหรือในร่ม เช่น การละเล่นต่างๆ การหัดทำงานฝืมือง่ายๆ เพื่อให้คุณและลูกมีปฎิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอีกด้วยค่ะ